กุมภาพันธ์ 2563
การผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยเดือนมกราคม 2563 ลดลงร้อยละ 6.7 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงร้อยละ 64.4 จากอัตราร้อยละ 68.3 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน หดตัวลงตามการชะลอคำสั่งซื้อจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก และผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้มีวัตถุดิบไม่เพียงพอต่อการผลิต อุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นการส่งออกที่มีปริมาณการผลิตลดลงจำนวนมาก ได้แก่ น้ำตาล (-11.0%) แป้งมันสำปะหลัง (-10.4%) เนื้อไก่ปรุงสด (-5.6%) กุ้งแช่แข็ง (-5.1%) และสับปะรดกระป๋อง (-4.9%) ส่วนสินค้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศที่มีปริมาณการผลิตลดลงจำนวนมาก ได้แก่ น้ำมันปาล์ม (-33.8%) น้ำผลไม้ (-14.5%) ซอสและเครื่องปรุงรส (-7.3%) ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ (-4.0%) และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (-3.6%)
การบริโภคภายในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากความต้องการบริโภคอาหารสด โดยเฉพาะข้าวสารเหนียว ผลไม้ และสุกร ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่มาเร็วกว่าปีก่อนหน้า โดยข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 8.3 จากการสูงขึ้นของราคาข้าวสารเหนียวอย่างต่อเนื่อง ตามปริมาณข้าวสารในประเทศที่ลดลงจากภัยแล้ง เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 3.5 จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน เช่นเดียวความต้องการผลไม้ที่ใช้เป็นเครื่องประกอบการไหว้ในช่วงดังกล่าวส่งทำให้ราคาผลไม้สูงขึ้นร้อยละ 3.5 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มรสช็อกโกแลต) สูงขึ้นร้อยละ 1.95 ยังเป็นผลต่อเนื่องจากการปรับภาษีค่าความหวานเมื่อ 1 ตุลาคม 2562
download PDF ย้อนกลับ