สวัสดี

Monthly Situation

ภาวะอุตสาหกรรมอาหารเดือนพฤศจิกายน 2562

ธันวาคม 2562

รายละเอียด :

การผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยเดือนพฤศจิกายน 2562 ลดลงร้อยละ 5.7 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 52.1 ลดลงจากร้อยละ 54.4 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาคการผลิตที่ลดลงส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก โดยลดลงประเทศคู่หลักมีคำสั่งซื้อลดลง อุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นการส่งออกที่มีปริมาณการผลิตลดลงจำนวนมาก ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง (-45.1%), การผลิตน้ำตาล (-37.0%), แป้งมันสำปะหลัง (-25.9%) และกะทิสำเร็จรูป (-11.5%) ส่วนสินค้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศที่มีปริมาณการผลิตลดลงจำนวนมาก ได้แก่ น้ำมันปาล์ม (-13.8%) เนื่องจากวัตถุดิบปาล์มน้ำมันลดลงไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงงานสกัด

การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลงหลังได้รับแรงกดดันด้านราคาสินค้าอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งที่ราคาสูงขึ้นร้อยละ 8.9 โดยราคาแป้งข้าวเจ้า และแป้งข้าวเหนียวสูงขึ้นตามปริมาณข้าวสารในประเทศที่ลดลงจากภัยแล้ง และความเสียหายจากอุทกภัยในช่วงก่อนหน้า เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 1.7 โดยราคาสุกรปรับตัวเพิ่มจากเกษตรกรรายย่อยลดกำลังการผลิตจากภาวะต้นทุนสูง และมีการเฝ้าระวังอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ผักและผลไม้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลงจากเดือนก่อน เนื่องจากสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ทำให้ผลผลิตออกมาก ขณะที่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ2.8 (น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มรสชอกโกแลต) ผลจากการปรับภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสม

 

การส่งออกอาหารไทยเดือนพฤศจิกายน 2562 มีมูลค่า 82,002 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 9.2 โดยได้รับปัจจัยลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินบาท โดยการส่งออกอาหารในกลุ่มสินค้าหลักลดลงเกือบทุกรายการ ยกเว้น น้ำตาลทราย ที่ยังคงมีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการส่งมอบสินค้าตามคำสั่งซื้อก่อนหน้า และการเร่งระบายสต็อกของผู้ประกอบการเพื่อรองรับการผลิตฤดูกาลใหม่ การส่งออกข้าว ลดลงจากการที่ผู้นำเข้าชะลอการนำเข้าเพื่อรอดูราคาและสต็อกสินค้าในตลาดโลก ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทที่ทำให้ราคาข้าวไทยยังสูงกว่าคู่แข่ง แป้งมันสำปะหลัง หดตัวจากการลดลงของวัตถุดิบในตลาดเนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยว และเกษตรกรมีการชะลอการเก็บเกี่ยวเพื่อรอความชัดเจนโครงการประกันรายได้ ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรดยังคงลดลงอย่างต่อเรื่องจากวัตถุดิบที่ลดลง และปัญหาด้านความสามารถการแข่งขันด้านราคาของไทย

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527