พฤศจิกายน 2562
การผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยเดือนตุลาคม 2562 ลดลงร้อยละ 3.1 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 52.6 ลดลงจากร้อยละ 54.10 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาคการผลิตที่ลดลงเป็นไปตามการชะตัวของคำสั่งซื้อของตลาดทั้งในและต่างประเทศ อุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นการส่งออกที่มีปริมาณการผลิตลดลงจำนวนมาก ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง (-69.6%), แป้งมันสำปะหลัง (-22.9%) และกะทิ (-11.0%) จากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบจากภัยแล้ง โรคระบาด และการชะลอคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าหลัก ส่วนสินค้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศที่มีปริมาณการผลิตลดลงจำนวนมาก ได้แก่ น้ำมันปาล์ม (-16.0%) เนื่องจากวัตถุดิบปาล์มน้ำมันลดลงไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงงานสกัด
การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลงหลังได้รับแรงกดดันด้านราคาสินค้าอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งที่ราคาสูงขึ้นร้อยละ 8.9โดยราคาแป้งข้าวเจ้า และแป้งข้าวเหนียวสูงขึ้นตามปริมาณข้าวสารในประเทศที่ลดลงจากภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า ผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 6.0 จากความต้องการช่วงกินเจที่มากขึ้นและผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับราคาฐานปีที่ผ่านมาต่ำสุดในรอบปี ผลไม้สด สูงขึ้นร้อยละ 4.0 (เงาะ กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง) เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดู ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 2.63 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.4 (น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มรสชอกโกแลต) ผลจากการปรับภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสมร้อยละ 10-14 จาก 50 สตางค์ต่อลิตร ในปี 2560 เพิ่มเป็น 1 บาทต่อลิตร โดยมีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2562
การส่งออกอาหารไทยเดือนตุลาคม 2562 มีมูลค่า 85,744 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 8.4 โดยได้รับปัจจัยลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการแข็งตัวของค่าเงินบาท โดยการส่งออกอาหารในกลุ่มสินค้าหลักลดลงเกือบทุกรายการ ยกเว้น น้ำตาลทราย เครื่องปรุงรส และอาหารพร้อมรับประทาน โดยน้ำตาลยังคงมีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากการส่งมอบตามคำสั่งซื้อก่อนหน้า การส่งออกข้าว ลดลงจากการที่ผู้นำเข้าชะลอการนำเข้าเพื่อรอดูราคาและสต๊อกสินค้าในตลาดโลก ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทที่ทำให้ราคาข้าวไทยยังสูงกว่าคู่แข่ง แป้งมันสำปะหลัง หดตัวจากการลดลงของวัตถุดิบในตลาดเนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยว และเกษตรกรมีการชะลอการเก็บเกี่ยวเพื่อรอความชัดเจนโครงการประกันรายได้ ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรดยังคงลดลงอย่างต่อเรื่องจากวัตถุดิบที่ลดลง และปัญหาด้านความสามารถการแข่งขันของไทย
download PDF ย้อนกลับ