กรกฎาคม 2564
นางอูร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน (Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ประกาศแผนนโยบาย European Green Deal หรือ “ข้อตกลงยุโรปสีเขียว” เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นนโยบายการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งขับเคลื่อนภูมิภาคยุโรปสู่สังคมไร้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี ค.ศ. 2050 และเป็นผู้นำในเวทีโลกด้านอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีสะอาด ซึ่งกลยุทธ์ “จากฟาร์มถึงปลายส้อม (Farm to Fork Strategy)” เป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งของนโยบาย European Green Deal โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบการผลิตอาหารที่ “เป็นธรรม ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ตั้งแต่กระบวนการปลูก การแปรรูป การบริโภคจนถึงการกำจัดขยะอาหาร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายกลยุทธ์ดังกล่าวทางคณะกรรมาธิการยุโรปได้กำหนดให้ฉลากอาหารเป็นหนึ่งในแนวทางการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยการแสดงข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ ชื่ออาหาร ส่วนประกอบอาหาร ข้อมูลทางโภชนาการ สารอาหารที่ก่อให้เกิดการแพ้ วันหมดอายุ(use-by date)/ ควรบริโภคก่อน (best before date) วิธีการเก็บรักษา วิธีการปรุงอาหาร ฯลฯ เพื่อให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อ
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอให้มีการพิจารณากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับฉลากอาหาร จำนวน 6 ฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ Farm to Fork โดยจะนำเสนอกฎระเบียบดังกล่าวภายใน ปี 2565 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.บังคับการติดฉลากข้อมูลโภชนาการด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ (Mandatory front-of-pack nutrition labelling)
กฎระเบียบด้านการให้ข้อมูลอาหารแก่ผู้บริโภค (Food Information to Consumer Regulation) กำหนดให้อาหารที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ต้องแสดงข้อมูลทางโภชนาการ (nutrition declaration) ให้ผู้บริโภคทราบ ได้แก่ ค่าพลังงาน ปริมาณไขมัน ไขมันอิ่มตัว คาร์โบไฮเดรต น้ำตาล และเกลือ ซึ่งจะปรากฏอยู่บนฉลากด้านหลังบรรจุภัณฑ์ อย่างไรก็ตามกฎระเบียบดังกล่าวยังอนุญาตให้มีการแสดงข้อมูลทางโภชนาการในลักษณะเดียวกันกับฉลากด้านหลังหรือในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การปรากฏเครื่องหมายตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ ด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ หรือ front-of-pack (FOP) เพื่อให้ผู้บริโภคมองเห็นข้อมูลสำคัญได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบันการติดฉลากโภชนาการด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ยังเป็นมาตรการสมัครใจ (voluntary basis) อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยุโรปจะมีการเสนอให้การแสดงฉลากโภชนาการด้านหน้าบรรจุภัณฑ์เป็นมาตรการบังคับ (mandatory front-of-pack nutrition labelling) ในรูปแบบที่สอดคล้องกันทั่วทั้งสหภาพยุโรป ภายในปลายปี 2565 เพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ป้องกันความสับสนของผู้บริโภค และลดอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์อาหารในตลาดร่วม โดยรูปแบบฉลากโภชนาการด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ที่พบได้ในสหภาพยุโรป มีดังนี้
เป็นการให้ข้อมูลสารอาหารที่สำคัญบางรายการ โดยใช้ตัวเลขหรือรหัสสี อาทิ ฉลากแสดงปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับ (Reference Intakes) ฉลากแสดงปริมาณสารอาหารแบบแบตเตอรี่ (Nutrinform BATTERY) ที่ใช้ในอิตาลี และฉลากสีสัญญาณไฟจราจร (Traffic light FOP) ที่ใช้ในสหราชอาณาจักร
download PDF ย้อนกลับ