สวัสดี

Early Warning

กระแส “GMOs” ในสิ่งมีชีวิต กับการออกนโยบายของสหภาพยุโรป

มกราคม 2559

รายละเอียด :

สหภาพยุโรป (European Union : EU) เป็นภูมิภาคที่มีนโยบายเกี่ยวกับสินค้าสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมหรือ GMOs ที่เข้มงวดมากที่สุดในโลก โดยยึดหลักป้องกันล่วงหน้า (Precautionary Approach) ในการตัดสินใจอนุญาตให้วางจำหน่ายสินค้า GMOs ในท้องตลาดและการติดตามผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายหลังสินค้า GMOs นั้นได้รับอนุญาตแล้ว โดยมีหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority : EFSA) ทำหน้าที่ในการประเมินความเสี่ยงของสินค้า GMOs และนำเสนอผลการประเมินให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณา

กระแสการต่อต้านสินค้า GMOs ที่มีความรุนแรงในทวีปยุโรปส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านในทวีปเอเชียและสหรัฐอเมริกาตามมา ปัจจุบันผู้ซื้อต่างเสนอและเรียกร้องขอหลักฐานเพื่อแสดงความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้ต่อรองทางการค้านั้นเป็น Non-GMOs มากขึ้น และมีแนวโน้มต้องการระบบตรวจสอบให้หลักประกันเพื่อให้ความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เป็น Non-GMOs นั้นจะเก็บแยกออกจาก GMOs พร้อมๆ กับมีผลรับรองทางวิทยาศาสตร์กำกับ

ผู้ผลิตอาหารหลัก เช่น Hain Food Group Inc Gerber and Heinz Pepsi Co’s Frito-lay Unilever ต่างก็เริ่มกำหนดนโยบายไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ GMOs ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาเองเริ่มมีนโยบายหลีกเลี่ยงสินค้าที่มีส่วนประกอบ GMOs ดังจะเห็นได้จากห้าง TESCO Mark & Spencers Sainbury’s Asda Migros Co-op โดยประเทศในสหภาพยุโรป มีข้อกำหนดให้ติดฉลากสินค้าที่มีเปอร์เซ็นต์ GMOs เกิน 1 % และอนุญาตให้นำเข้าเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น ขณะที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นกำหนดมาตรฐานไว้ที่ 3 % และ 5 % ตามลำดับ

จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภค พบว่า 97% ของคนยุโรปต้องการให้มีการระบุฉลากอย่างชัดเจน 85% ไม่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ GMOs ส่วนในสหรัฐอเมริกา จากการสำรวจโดยนิตยสาร Time เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2556 พบว่า 81% ของคนอเมริกันต้องการให้มีการติดฉลาก GMOs

กฎระเบียบหลักเกี่ยวกับ GMOs ใน EU
1.    Directive 2001/18/EC on the deliberate release into the environment of GMOs ลงวันที่ 12 มีนาคม 2544 ซึ่งกำหนดกรอบกฎหมาย กฎระเบียบและการบริหารจัดการเกี่ยวกับ GMOs ของประเทศสมาชิก โดยเกี่ยวข้องกับ 2 ประเด็นหลัก คือ
•    การวางจำหน่ายสินค้า GMOs และสินค้าที่มีส่วนผสมหรือส่วนประกอบของ GMOs ใน  EU รวมทั้งการเพาะปลูก การนำเข้า และการใช้สินค้า GMOs ในอุตสาหกรรม
•    การใช้และการกระจายของ GMOs ไปสู่สิ่งแวดล้อมไม่ว่าในกรณีใดก็ตามที่นอกเหนือจากการวางจำหน่ายในตลาด (เช่น การทดลองต่างๆ)
2.    Regulation (EC) No 1829/2003 on genetically modified food and feed ลงวันที่ 22 กันยายน 2546 ซึ่งวางกรอบกฎหมายหลักเกี่ยวกับการควบคุม การจำหน่ายสินค้าอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ GMOS หรือสินค้าที่มีส่วนผสมหรือส่วนประกอบของ GMOs ในตลาด EU (รวมถึงการ เพาะปลูก นำเข้า การใช้และการปรับเปลี่ยนพืช สัตว์หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก GMOs หรือที่มีส่วนผสมและส่วนประกอบของ GMOs ในอุตสาหกรรม) กฎระเบียบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสุขภาพมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดวิธีประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่มีมาตรฐานสูงสุดในระดับ EU รวมทั้งกำหนดขั้นตอนประเมินความเสี่ยงและระบบอนุญาตวางจำหน่ายอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ GMOs ที่เป็นหนึ่งเดียวกันทั่วทั้ง EU อันจะก่อให้เกิดความมีประสิทธิภาพ มีกรอบเวลาที่ชัดเจนและมีความโปร่งใส
3.    Regulation (EC) No 1830/2003 concerning the traceability and labelling of genetically modified organisms and traceability of food and feed products produced from genetically modified organisms ลงวันที่ 22 กันยายน 2546 เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับการตรวจสอบย้อนกลับและการติดฉลากสินค้าอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ที่ผลิตจาก GMOs ซึ่งต้องการจำหน่ายในตลาด EU โดยเน้นเรื่องการให้ข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้องแก่ผู้บริโภคและผู้ใช้สินค้า GMOs

ขั้นตอนการขออนุญาตสินค้า GMOs
กฎระเบียบ Regulation (EC) No 1829/2003 กำหนดให้สินค้า GMOs ที่จะเพาะปลูก นำเข้าหรือวางจำหน่ายในตลาด EU ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมาธิการยุโรปเสียก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้ โดยมีขั้นตอน ดังนี้
1.    ผู้ประกอบการต้องยื่นขออนุญาตกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในประเทศสมาชิกที่ประสงค์จะดำเนินการ พร้อมเตรียมหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่าสินค้า GMOs นั้นไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
2.    หน่วยงาน EFSA ทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานวิทยาศาสตร์ของประเทศสมาชิกอย่างใกล้ชิด ความคิดเห็นของ EFSA เกี่ยวกับความปลอดภัยของสินค้า GMOs  ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจะถูกนำเสนอให้คณะกรรมาธิการยุโรป
3.    ภายหลังได้รับความคิดเห็นจาก EFSA คณะกรรมาธิการยุโรปต้องเตรียมร่างมติว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธการอนุญาตสินค้า GMOs นั้นภายในเวลา 3 เดือน และร่างมติจะถูกส่งต่อให้คณะกรรมการยุโรปด้านห่วงโซ่อาหารและสุขภาพสัตว์ (Standing Committee on Food Chain and Animal Health) ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากประเทศสมาชิกต่างๆ เพื่อโหวตว่าเห็นด้วยกับร่างมติของคณะกรรมาธิการยุโรปหรือไม่ โดยใช้ระบบเสียงข้างมาก หากคณะกรรมการยุโรปด้านห่วงโซ่อาหารและสุขภาพสัตว์ไม่สามารถหาข้อตกลงได้คณะกรรมาธิการยุโรปจะเป็นผู้ตัดสินใจและนำเสนอคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปและสภายุโรป
4.    คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปมีเวลา 90 วันในการตัดสินใจว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธร่างมติ ของคณะกรรมาธิการยุโรป โดยใช้ระบบเสียงข้างมาก หากปฏิเสธ คณะกรรมาธิการยุโรปจะต้องนำร่างมติกลับไปทบทวนใหม่ แต่หากยอมรับหรือไม่สามารถหาข้อตกลงได้ให้ถือว่าร่างมติของคณะกรรมาธิการยุโรป มีผลบังคับใช้ โดยสินค้า GMOs ที่ได้รับอนุญาตต้องขึ้นทะเบียนและมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 10 ปี

 

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527