ตุลาคม 2558
อุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สำคัญของไทย โดยมีจุดแข็งจากการใช้วัตถุดิบภายในประเทศมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์น้ำตาลเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคภายในประเทศ และยังมีผลผลิตส่วนเกินสามารถส่งออกทำรายได้ให้โรงงานน้ำตาลรวมถึงเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีจำนวนกว่า 2 แสนครัวเรือน คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ การที่อุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยมีทำเลที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียที่เต็มไปด้วยประเทศผู้นำเข้าน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ส่งผลทำให้มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการขนส่งไปยังตลาดในภูมิภาค เป็นปัจจัยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยเติบโตขึ้นมาโดยลำดับ
ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยนับจากนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายและน่าจับตามองอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบการค้าเสรีในกรอบอาเซียน ซึ่งในโอกาสนี้ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ได้รับเกียรติจากคุณผรินทร์ อมาตยกุล ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานขายต่างประเทศและโมลาส มาช่วยถ่ายทอดประสบการณ์ในภาคธุรกิจ รวมถึงฉายภาพพัฒนาการอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนได้ให้มุมมองแนวโน้มอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยในอนาคตไว้อย่างสนใจ ดังนี้
เกี่ยวกับบริษัท
ปัจจุบันกลุ่มโรงงานน้ำตาลมิตรผล หรือกลุ่มมิตรผล (Mitr Phol Group) เป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลอันดับที่ 1 ของไทย โดยในปีการผลิต 2557/58 โรงงานน้ำตาลมิตรผลสามารถผลิตน้ำตาลทรายได้กว่า 2 ล้านตัน ซึ่งผลผลิตน้ำตาลดังกล่าวมาจากโรงงานน้ำตาลในกลุ่มจำนวน 6 โรงงาน (เฉพาะโรงงานในประเทศ) ที่มีกำลังการหีบอ้อยได้ปีละกว่า 20 ล้านตันอ้อยต่อปี ประกอบด้วย โรงงานน้ำตาลมิตรผล (สุพรรณบุรี) โรงงานน้ำตาลมิตรผล สิงห์บุรี โรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์ โรงงานน้ำตาลมิตรผล ภูเขียว โรงงานน้ำตาลมิตรผล ภูเวียง และโรงงานน้ำตาลมิตรผล ภูหลวง
วิสัยทัศน์ของกลุ่มมิตรผล คือ “การมุ่งสู่การเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกในอุตสาหกรรมน้ำตาลและชีวพลังงานโดยการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการจัดการ” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทางกลุ่มมีหลักปรัชญาในการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ (1) มุ่งสู่ความเป็นเลิศ (2) เชื่อในคุณค่าของคน (3) ตั้งอยู่ในความเป็นธรรม และ (4) รับผิดชอบต่อสังคม
สถานการณ์อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยในปัจจุบันและแนวโน้ม
อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทยอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายควบคุมปริมาณน้ำตาลทรายให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ส่วนที่เหลือจึงจะอนุญาตให้ส่งออกได้ ในขณะเดียวกัน จำนวนโรงงานน้ำตาลยังถูกควบคุมโดยภาครัฐ การขยายหรือย้ายฐานการผลิตไปยังพื้นที่ใหม่ต้องได้รับการอนุญาตจากคณะรัฐมนตรีเสียก่อน นอกจากนี้ ราคาจำหน่ายน้ำตาลภายในประเทศยังถูกควบคุมโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยสินค้าและบริการปี พ.ศ. 2542
ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานน้ำตาล 51 แห่ง มีกำลังการผลิต 1 ล้านตันอ้อยต่อวัน แต่ในความเป็นจริงโรงงานน้ำตาลไทยมีอ้อยในการผลิตน้ำตาลเพียง 105 ล้านตันต่อปี เท่านั้น เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่เพาะปลูกที่จำกัดเพียง 10-11 ล้านไร่ การขยายพื้นที่ค่อนข้างลำบากเพราะต้องแข่งขันกับพืชชนิดอื่น ซึ่งปริมาณอ้อย 105 ล้านตันจะเข้าโรงงานหีบอ้อยในระยะเวลาเพียง 4-5 เดือน คือประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนของทุกปี และให้ผลผลิตน้ำตาลทรายได้ประมาณ 11-11.5 ล้านตัน โดยผลผลิตดังกล่าวจะจัดสรรไว้สำหรับบริโภคในประเทศ 2.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือจะส่งออกนำรายได้เข้าประเทศโดยมีมูลค่านับแสนล้านบาทต่อปีขึ้นอยู่กับราคาในขณะนั้น
ราคาน้ำตาลในตลาดโลกถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศ หากย้อนหลังกลับไป 4-5 ปีก่อนหน้า ราคาน้ำตาลตลาดโลกทำสถิติสูงสุดถึง 36 เซ็นต์ต่อปอนด์ จูงใจให้ประเทศต่างๆ เพิ่มกำลังการผลิตน้ำตาล ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลเกินดุล 3-5 ล้านตันต่อปีเป็นเวลา 5 ปีก่อน และมีปริมาณน้ำตาลเกินดุลสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์รวมทั้งน้ำตาลมีราคาตกต่ำลงมาก ราคาน้ำตาลตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา (วันที่ 24 สิงหาคม 2558) อยู่ที่ 10.13 เซ็นต์ต่อปอนด์ ลดลงกว่า 3 เท่าตัวจากระดับราคาในช่วง 4-5 ปีก่อนหน้า ซึ่งระดับราคาดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตในหลายๆ ประเทศมีรายได้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต จึงลดกำลังการผลิตลง คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะเป็นแรงขับให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ปัจจุบันราคาปรับตัวขึ้นมา 14-15 เซ็นต์ต่อปอนด์
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าราคาน้ำตาลที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลของไทย ทั้งนี้เนื่องจากน้ำตาลยังคงเป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภคทำให้มีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการบริโภคน้ำตาลเพิ่มขึ้น 1.5-2.0% ต่อปี และคาดว่าอัตราการบริโภคจะยังเติบโตต่อไปในอนาคต โดยมีตลาดหลักในการผลักดันการบริโภคน้ำตาลให้เติบโต ได้แก่ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา รวมถึงกลุ่มประเทศในอาเซียนแทบทุกประเทศโดยเฉพาะอินโดนีเซีย
Sharing Revenue กลไกเกื้อหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยในช่วงที่ผ่านมา
ในช่วงก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ประเทศไทยประสบปัญหาปริมาณผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายลดต่ำลงจนไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ เนื่องจากราคาอ้อยที่เกษตรกรได้รับอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต รวมทั้งเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาลเกี่ยวกับราคาซื้อขายอ้อย ส่งผลทำให้ชาวไร่อ้อยหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ซึ่งได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาพรวมการเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทย
ภาครัฐได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ออก พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยให้อำนาจคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายในการจัดระบบที่เหมาะสมและยุติธรรมในการกำหนดราคาอ้อยให้แก่ชาวไร่อ้อย และผลตอบแทนในการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายของโรงงานน้ำตาล จึงเป็นที่มาของระบบแบ่งปันรายได้ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยที่ใช้มาจวบจนปัจจุบัน
หลักการของระบบแบ่งปันรายได้ (Sharing Revenue) ที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยนั้น จะอยู่ในรูปตัวเงินที่คำนวณมาจากรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตน้ำตาลทรายในแต่ละฤดูการผลิต แล้วหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระบบ และเหลือเป็นรายได้สุทธิ ซึ่งรายได้สุทธิดังกล่าวจะถูกนำมาแบ่งสรรให้กับชาวไร่อ้อยในสัดส่วนร้อยละ 70 (ผลตอบแทนจากราคาอ้อย) ส่วนอีกร้อยละ 30 เป็นของโรงงานน้ำตาล (ผลตอบแทนการผลิต)