สวัสดี

Area based Industry

อุตสาหกรรมอาหารพร้อมรับประทาน โดย คุณสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายงานอาหารสำเร็จรูปและสายงานวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารกลาง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)

มิถุนายน 2558

รายละเอียด :

          บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำทางด้านธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร โดยดำเนินธุรกิจของบริษัทครอบคลุมประเภทของสัตว์บกและสัตว์น้ำ ซึ่งได้แก่ สุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ เป็ด กุ้ง และ ปลา โดยมีกระบวนการผลิตที่ครบวงจรเริ่มตั้งแต่ การผลิตอาหารสัตว์ การเพาะพันธ์สัตว์ การเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า การแปรรูปเนื้อสัตว์ขั้นพื้นฐาน การผลิตสินค้าเนื้อสัตว์แปรรูปกึ่งปรุงสุกและปรุงสุก การผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปหรือผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน รวมถึงการดำเนินธุรกิจช่องทางการขายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และอาหารในรูปแบบร้านค้าปลีก และร้านอาหาร

 

          การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีแนวโน้มต้องการความสะดวกสบาย ใส่ใจในสุขภาพในทุกช่วงอายุ บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพในด้านคุณค่า รสชาติ และความปลอดภัย โดยมีทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโดยเฉพาะที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค  ผลิตภัณฑ์อาหารปรุงสุกที่จำหน่ายในประเทศและส่งออก เช่น ไส้กรอก เกี๋ยวกุ้ง กุ้งต้มสุก ไก่คาราเกะ ไก่ห่อสาหร่าย  ไก่ทเอริยากิ ข้าวแกงเขียวหวานไก่ บะหมี่เป็ดพะโล้ ลูกชิ้น สปาเก็ตตี้ เป็นต้น  นอกจากนี้ ในปี 2557 บริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค  ได้แก่ ไข่ออนเซน  ไข่ตุ๋น  เต้าหู้ไข่โอเมก้าผสมผัก ชิคฟิงเกอร์ และอาหารพร้อมรับประทานเพื่อสุขภาพ เช่น ข้าวกล้องแกงส้ม ข้าวกล้องต้มทรงเครื่อง เป็นต้น

          ในส่วนของตลาดกุ้งนั้น ยังเป็นเรื่องยากของประเทศไทยที่จะแข่งขันในตลาดโลก เพราะหลายประเทศที่ขายกุ้งในราคาต่ำกว่าบ้านเรา เช่น อินเดีย เวียดนาม เอกวาดอร์ และจีน จึงควรหลีกเลี่ยงการขายกุ้งเป็นตัวโดยไม่ผ่านการแปรรูปใดๆ เพราะจะทำให้ไม่ได้ราคาที่ดีในตลาดโลก แต่ควรแปรรูปกุ้งให้เป็นอาหารพร้อมรับประทานแทน เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกุ้ง โดยสามารถแปรรูปเป็นไส้กรอกกุ้ง หอยจ๊อกุ้ง ลูกชิ้นกุ้ง หรือนักเก็ตกุ้ง จึงจะสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
ผลิตภัณฑ์ประเภทไส้กรอก ทางบริษัทได้ทำสินค้าภายใต้แบรนด์ต่างๆ เพื่อจับกลุ่มผู้บริโภคที่ต่างกัน เช่น แบรนด์ BKP จะจับกลุ่มผู้บริโภคตามต่างจังหวัด แบรนด์ CP จะจับกลุ่ม Modern trade เช่น 7-Eleven  ส่วน แบรนด์ Mr. Sausage และ แบรด์ Bucher จะจับกลุ่มผู้บริโภคระดับพรีเมียม 
วัตถุดิบและกระบวนการผลิต
          วัตถุดิบที่สำคัญของธุรกิจอาหารส่วนใหญ่มาจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของบริษัทที่ได้ผ่านการแปรรูปขั้นพื้นฐานไปเพิ่มมูลค่าเป็นสินค้าอาหารปรุงสุก อาหารกึ่งสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน โดยมีโรงงานแปรรูปกระจายอยู่ในหลายจังหวัดของประเทศ โดยในกระบวนการผลิตได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร มีการนำระบบบริหารระดับสากลมาประยุกต์ใช้ รวมทั้งระบบมาตรฐานตามความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น Global GAP , BRC, IFS  เป็นต้น
แรงงาน
          ปัจจุบันซีพีเอฟดำเนินนโยบายการจ้างงานโดยตรงไม่ผ่านนายหน้าเหมือนในอดีต มีการจ้างแรงงานที่เป็นชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมดราว 5,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชา 4,100 คน และเมียนมาร์ 900 คน กระจายไปตามโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ แปรรูปสุกร และแปรรูปสัตว์น้ำ ทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรมเทียบเท่ากับแรงงานไทยทุกประการ เช่น ค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายไทย ค่าทักษะฝีมือแรงงาน การปรับค่าจ้างประจำปี บริการรถรับส่ง ประกันอุบัติเหตุ รวมไปถึงสวัสดิการที่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น ประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน และยังได้รับความช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายในการสมัครงานตั้งแต่ต้นทางอีกด้วย แต่แรงงานจะมีค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่ต้องออกเองราว 230 ดอลลาร์สหรัฐ (8,000 บาท) ในแง่คุณ ภาพชีวิต บริษัทมีทีมแรงงานสัมพันธ์คอยดูแลแรงงานต่างชาติอย่างใกล้ชิด มีล่ามแปลภาษา รวมถึงเปิดหลักสูตรอบรมภาษาเพื่อให้ผู้บริหารของโรงงานต่าง ๆ สามารถสื่อสารกับแรงงานต่างชาติซึ่งเป็นผู้รับคำสั่งได้ ในทางกลับกันก็มีการเปิดหลักสูตรสอนภาษาไทยให้กับกลุ่มแรงงานต่างชาติเพื่อให้เกิดความเข้าใจในการสื่อสารมากขึ้น ทั้งยังเน้นการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเสมอภาคต่อกัน สิ่งที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้แรงงานต่างชาติมีตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสวัสดิการของบริษัทเพื่อสามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้ ทำให้มีแรงงานต่างชาติจำนวนมากสนใจลงชื่อสมัครรอข้ามฝั่งมาทำงานกับซีพีเอฟเป็นจำนวนมาก
          ซีพีเอฟเป็นบริษัทที่มีลูกค้าทั่วโลก อาทิ วอลล์มาร์ทและเทสโก มาตรฐานการจ้างงานจะต้องเป็นไปตามหลักสากล ทำให้ต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการแรงงาน และนอกเหนือจากการกำหนดนโยบายดังกล่าวแล้ว ซีพีเอฟยังส่งมอบนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืนไปยังผู้ที่เป็นซัพพลายเออร์กว่า 200 ราย มีการจัดอบรมเพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันและยังได้จัดให้มีการประเมินตนเองของซัพพลายเออร์เพื่อให้มาตรฐานแรงงานเป็นไปอย่างถูกต้องเที่ยงธรรมที่สุด เพื่อช่วยกันยกระดับมาตรฐานด้านแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ทิศทางการปรับตัว

          ด้วยความตระหนักในความท้าทายด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงความมุ่งมั่นสู่การเป็นผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลก บริษัทจึงได้ค้นคว้า พัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ลดการใช้ทรัพยากร และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แผนการดำเนินงาน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2554-2557 สำหรับโครงการผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟที่ยั่งยืน ที่พัฒนาทั้งด้าน Green Product , Green Logistics และ  Green Value Chain โดยผนวกรวมกับการบริหารห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้ซีพีเอฟ ได้รับการรับรองมาตรฐาน ProSustain จาก DNV-GL ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้การรับรองผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนระดับโลก สำหรับกระบวนการผลิตไก่สด CP สำหรับขายในประเทศไทย และไก่ปรุงสุก สำหรับตลาดยุโรป ในปี 2556
การที่บริษัทเป็นผู้ผลิตไก่รายแรกของโลก และผู้ผลิตอาหารรายแรกของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการออกแบบ พัฒนา และการควบคุมการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานตามแนวทางการจัดการอย่างยั่งยืน โดยมีมุมมอง 4 มิติ ทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยใช้หลักการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล ISO 14040 และ ISO  14044 
          ผลจากการทำโครงการผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟที่ยั่งยืน พบว่า เมื่อวิเคราะห์เชิงเศรษฐนิเวศ(Eco-Efficiency Analysis) แสดงให้เห็นคุณค่าของผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ 1 กิโลกรัม ที่สามารถลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมได้เฉลี่ยร้อยละ 7 โดยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พลังงาน การใช้ทรัพยากร การปลดปล่อยมลพิษ และการใช้ที่ดิน ด้านสังคม ได้แก่ ศักยภาพในการก่อให้เกิดความเป็นพิษ อุบัติเหตุและความเจ็บป่วยในการทำงาน
ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประเทศไทยจะมีทั้งวิกฤตและโอกาสในครั้งนี้ โดยเราจะมีโอกาสที่จะส่งสินค้าเข้าไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านโดยปราศจากกำแพงทางด้านภาษี แต่ในขณะเดี่ยวกันประเทศเพื่อนบ้านก็จะมีโอกาสนำสินค้ามาขายที่ประเทศไทยได้อย่างเสรีเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นในประเทศ ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องปรับตัวโดยการพัฒนาทางด้านต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยี ต้นทุนการผลิต และคุณภาพสินค้า  แต่สำหรับอาหารไทยแล้ว ยังถือว่าเป็นสินค้าที่มีความโดดเด่นใตลาดอาเซียน ซึ่งเราสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ 
          นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังมีการขยายการลงทุนต่อยอดในประเทศที่ซีพีเอฟได้ลงทุนแล้ว 14 ประเทศอย่างต่อเนื่องในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร โดยในปีนี้จะใช้เงินลงทุนรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท  ทั้งในจีน อินเดีย รัสเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย รวมถึงในไทย ขณะที่มีการลงทุนในประเทศแทนซาเนีย ซึ่งเป็นประเทศแรกในทวีปแอฟริกาใต้ในธุรกิจอาหารสัตว์บก และฟาร์มไก่ ซึ่งจะดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อศึกษาตลาด ควบคู่ไปกับการเข้าซื้อกิจการด้านอาหารที่มีศักยภาพในต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายรายได้ของบริษัทในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมาจากรายได้การลงทุนและทำตลาดในต่างประเทศสัดส่วน 75% ของรายได้รวม จากปัจจุบันรายได้ของซีพีเอฟมาจากต่างประเทศ 65% และอีก 35% จากการผลิตสินค้าและจำหน่ายในประเทศ

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527