สวัสดี

Area based Industry

ข้าวไทย ข้าวคุณภาพโลก โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา)

พฤษภาคม 2558

รายละเอียด :

          ความเป็นมา : ในปี 2544 ได้มีการจัดประชุม Thailand Rice Convention ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นเวทีสำคัญในระดับสากลให้ผู้ที่อยู่ในวงการค้าข้าวจากทั่วโลกได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเป็นในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อวงการค้าข้าว  นอกจากนี้ยังนับเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ส่งออกข้าวของไทยได้สร้างสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าในต่างประเทศผ่านกิจกรรมต่างๆ ภายในงาน ซึ่งครอบคลุมการประชุมวิชาการและการบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการ จากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการศึกษาดูงานในพื้นที่เพาะปลูกข้าว  ผลสำเร็จจากการจัดประชุมในครั้งนี้ได้ต่อยอดจนเกิดการประชุม Thailand Rice Convention ต่อเนื่องในทุก ๆ 2 ปี อีกจำนวน 5 ครั้ง ในปี 2547 2550 2552 2554 และปี 2556

 

         เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน Thailand Rice Convention 2015 นับเป็นครั้งที่ 7 จัดขึ้น ณ HALL 4 อิมแพ็ค เมืองทองธานี  มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแสดงศักยภาพของไทยในฐานะประเทศผู้นำ ด้านการผลิต และการส่งออกข้าวคุณภาพดีของโลกที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านคุณภาพมาตรฐาน สุขอนามัย โภชนาการ และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากหน่วยงานภายในประเทศ และต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมข้าวทั้งภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคการส่งออกตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ ประกอบด้วย ผู้แทนการค้าจากหน่วยงานกำกับดูแลการนำเข้าข้าวในประเทศผู้ซื้อ ผู้ผลิต และส่งออกที่สำคัญ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม พม่า กัมพูชา และ สปป.ลาว นอกจากนี้มีผู้ประกอบการค้าข้าว ผู้นำเข้า ผู้ส่งออกข้าว ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมข้าว และผลิตภัณฑ์จากทั้งใน และต่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการผลิต และการค้าข้าว ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ กลุ่มเกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาตนเองมาเป็นผู้ผลิตข้าวขนาด กลาง และขนาดย่อมที่สามารถพึ่งพาตนเอง เกษตรกรจาก 75 จังหวัด และสื่อมวลชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 คน

          งาน "ไทยแลนด์ ไรซ์ คอนเวนชั่น 2015"  จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้แนวคิด "คิดถึงข้าว คิดถึงข้าวไทย ข้าวคุณภาพเยี่ยมของโลก"  โดยกระทรวงพาณิชย์ต้องการแสดงศักยภาพให้ประเทศไทยเป็น ผู้นำด้านการผลิตและส่งออกข้าวคุณภาพดีของโลก รวมถึงตอกย้ำความเชื่อมั่นข้าวไทยให้กับผู้ค้า  นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการมหัศจรรย์ข้าวไทยพันธุ์ 4 ภาค รวมถึงการแสดงกระบวนการผลิตข้าวไทยที่มีคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำจนถึงปลายน้ำ 
ในการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดได้กล่าวปาถกฐาพิเศษหัวข้อ "ยุทธศาสตร์ด้านการตลาดข้าวและนโยบายการค้าข้าวของไทย" ว่า ข้าวไทยถือเป็นหนึ่งในความภูมิใจของคนไทยสร้างชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของ ทั่วโลก โดยนายกฯ วางยุทธศาสตร์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว ซึ่งเน้น 3 ประเด็นหลัก คือ 
     1. การค้าข้าวในตลาดโลกและบทบาทของประเทศไทย 
     2. โครงสร้างอุปสงค์ข้าวไทย 
    3. แผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาข้าวไทย โดยจะต้องให้ไทยเป็นผู้นำค้าข้าวตลาดโลก และต้องทำงานร่วมกันทั้งภาคการผลิต ภาคการตลาด แต่ในระยะสั้นจะมีการจัดการผลผลิตให้เหมาะสม ลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ส่วนระยะยาวเน้นประสิทธิภาพ ความต้องการของตลาด ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ถ้าทำได้เช่นนี้เชื่อว่าในปี 2021 จะผลิตข้าวมากขึ้นร้อยละ 25 อีกทั้งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตข้าวต่อตันได้อย่างน้อยร้อยละ20 
          นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงการแสวงหาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการเพิ่มมูลค่าข้าว ซี่งปีที่ผ่านมามีการส่งออกข้าว กว่า 10.97 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า ถึง 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้ปัจจุบันเจอความผันผวนและอุปสรรคจากภัยธรรมชาติที่ส่งผลต่อการผลิตก็ตาม แต่จากปัจจัยดังกล่าวจึงต้องหาทางว่าจะทำอย่างไรที่จะส่งออกข้าวคุณภาพไป ทั่วโลกมากกว่าจะมุ่งส่งออกข้าวจำนวนมากๆ โดยจัดลำดับตลาดข้าว ทั้งระดับพรีเมี่ยม ระดับกลาง และระดับล่าง 
ส่วนแนวโน้มข้าวไทย  ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงอาหารหลักของคนไทย แต่ยังบ่งบอกถึงวิถีชีวิต ดั้งเดิมของคนไทย จึงอยากให้สร้างประวัติศาสตร์ของข้าวไทยให้คนรู้คุณค่าความสำคัญของข้าวไทย อันจะเป็นการเพิ่มมูลค่าข้าวไทย ตลอดจนหามาตรการลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งการวิจัยพัฒนาที่ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ 
          " ฝากผู้ประกอบการให้ ดูแลชาวนาด้วย อย่ามุ่งหวังเพียงกำไรเท่านั้น ขณะเดียวกัน จะต้องมีการตรวจสอบประสิทธิภาพโรงสีข้าวทั้งหมด เพื่อให้มีคุณภาพประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้าว และอย่าให้มีการเอาเปรียบชาวนา ซึ่งสั่งการให้มีการดำเนินการเร็วๆนี้ " นายกรัฐมนตรี กล่าว 
สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวนั้นจะดำเนินการใน 7 ด้านหลัก คือ 
     1) แผนพัฒนาข้าวที่ยั่งยืนและมีเสถียรภาพ 
     2) สร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าว 
     3) ส่งเสริมและผลักดันการใช้มาตรฐานการผลิตและการค้าให้ได้มาตรฐานสากล 
     4) พัฒนาศักยภาพระบบการค้าข้าว 
     5) สร้างค่านิยมการบริโภคข้าว 
     6) สร้างนวัตกรรม 
     7) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการด้านโลจิสติกส์

     1. แผนการพัฒนาข้าวที่ยั่งยืนและมีเสถียรภาพ คือ การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการสินค้าข้าว รวมทั้งพืชเกษตรอื่นๆ ทั้งด้านการผลิตและการค้า ให้มีความสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ สอดคล้องกับสถานการณ์และภาวะการแข่งขันในปัจจุบัน เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่ภาคการผลิตและการค้าข้าวไทยอย่างยั่งยืน โดยยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลได้วางไว้ คือ ระยะสั้น : รัฐบาลจะเร่งรัดปรับโครงสร้างการบริหารจัดการผลผลิตข้าวให้อยู่ในพื้นที่ที่ เหมาะสมสำหรับพันธุ์ข้าวแต่ละชนิด ลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังเพื่อควบคุมปริมาณข้าวให้เหมาะสมสอดคล้องกับความ ต้องการของตลาด ควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือด้านการวางแผนการผลิตและการวิจัยพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตและคุณภาพข้าว 
     ระยะต่อไป : รัฐบาลจะให้การสนับสนุนภาคการผลิตในรูปแบบที่ไม่ทำลายกลไกตลาด โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ดี มีคุณภาพ ต้นทุนต่ำ และให้ผลผลิตต่อไร่สูง สนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานด้านสุขอนามัย โดยมีเป้าหมายให้ผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทย ในปี 2021 เพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างน้อยร้อยละ 25 ด้วยต้นทุนการผลิตข้าวต่อตันที่ลดลงอย่างน้อย ร้อยละ 20 รวมทั้งส่งเสริมการผลิตข้าวคุณภาพที่มีความโดดเด่นซึ่งกระจายอยู่ตามท้อง ถิ่นต่างๆ สำหรับตลาดเฉพาะ เช่น ข้าวอินทรีย์ ข้าวกล้องงอก ข้าวไรซ์เบอรร์รี่ ข้าวสังข์หยด ข้าวลืมผัว เพื่อเพิ่มมูลค่าและความหลากหลายของข้าวไทยในตลาด ภายใต้การผลิตแบบแปลงรวมเชิงอุตสาหกรรมด้วยระบบประณีตตามวิถีธรรมชาติ โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ 
     2. การสร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าว รัฐบาลจะดูแลการค้าข้าวให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมตามกลไกตลาด โดยร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรภาคเอกชน เกษตรกร และภาคประชาชน กำกับดูแลแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานการค้าข้าว เน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้ ตั้งแต่กระบวนการเก็บรักษา การบริหารจัดการสต็อกข้าว การจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ จัดระบบโรงสีและตลาดกลางให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญ รวมทั้งพัฒนาให้เกษตรกรชาวนามีความรู้เรื่องมาตรฐานการชั่ง การวัดความชื้นและสิ่งเจือปน 
     3. การส่งเสริมและผลักดันการใช้มาตรฐานการผลิตและการค้าให้ได้มาตรฐานสากล รัฐบาลจะจัดให้มีระบบการควบคุมตรวจสอบคุณภาพข้าวอย่างเข้มงวดทุกขั้นตอน ผลักดันให้ผู้ประกอบการโรงสีปรับปรุงการสีแปรสภาพให้ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธี การที่ดีในการผลิตอาหาร หรือมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) จัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐานเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว และปรับปรุงกฎกติกาการส่งออกข้าวป้องกันการปลอมปน  เพื่อให้ข้าวไทยทุกเม็ดเป็นข้าวที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล 
     4. การพัฒนาศักยภาพระบบการค้าข้าวและการตลาด ประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าและการส่งออกข้าวที่สามารถตอบสนองความต้องการของทุกระดับคุณภาพและทุกระดับราคาในตลาดโลก โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักและภาครัฐทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและ กำกับดูแล เพื่อรักษาความเป็นธรรมทางการค้าและการแข่งขันอย่างเสรีตามกลไกตลาด ตลอดจนร่วมมือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้ 
ในส่วนของการตลาดต่างประเทศ รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำทางด้านคุณภาพและมาตรฐานข้าว รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำจากข้าวของโลก เพื่อให้ข้าวไทยคงความเป็นหนึ่งในเรื่องคุณภาพที่ผู้บริโภคทั่วโลกพึงพอใจ โดยจะส่งเสริมตลาดสำหรับข้าวคุณภาพสูง (Premium) และข้าวชนิดพิเศษสำหรับตลาดเฉพาะ (Niche Market) อาทิ ข้าวอินทรีย์ และข้าวประจำท้องถิ่นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ตามภูมิศาสตร์ (Geographical Identification : GI) เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้จากที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อตอบสนองความตื่นตัวในเรื่องสุขภาพของผู้บริโภคกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง ยึดถือในตัวผลิตภัณฑ์ที่ตนเองมีความเชื่อมั่นสูง (Brand royalty) และพร้อมที่จะจ่ายเงินแพงขึ้นเพื่อคุณสมบัติเฉพาะของผลิตภัณฑ์

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527