สวัสดี

Area based Industry

อุตสาหกรรมน้ำผลไม้ โดย คุณรุ่งฉัตร บุญรัตน์ กรรมการและรองผู้จัดการใหญ่-สายงานการขายและการตลาด บริษัท มาลีเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด

เมษายน 2558

รายละเอียด :

        น้ำผลไม้เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีส่วนช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบผลไม้ของไทย มูลค่าส่งออกเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 12,350 ล้านบาท  ซึ่งใกล้เคียงกับมูลค่าตลาดน้ำผลไม้ไทยประมาณ 12,000 ล้านบาท  สถาบันอาหารได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณรุ่งฉัตร บุญรัตน์ กรรมการและรองผู้จัดการใหญ่-สายงานการขายและการตลาด บริษัท มาลีเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท มาลีสามพราน จำกัด (มหาชน) ดูแลเรื่องการขายและตลาดของสินค้ามาลีสามพราน ถึงสถานการณ์และแนวโน้มอุตสาหกรรมน้ำผลไม้ไทยในปัจจุบัน มีประเด็นที่น่าสนใจ

 

เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท

          ปัจจุบัน บริษัท มาลีสามพราน จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผลไม้กระป๋องและน้ำผลไม้ยูเอชทีและพาสเจอร์ไรส์ภายใต้ตราสินค้า “มาลี” จัดจำหน่ายนมยูเอชทีและพาสเจอร์ไรส์ ครีมเทียมข้นหวานภายใต้แบรนด์ “ฟาร์มโชคชัย” ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มอื่นๆ นอกจากนี้ บริษัทดำเนินธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามสัญญา และรับจ้างผลิตให้กับลูกค้าในประเทศ และต่างประเทศ  กระบวนการผลิตของบริษัทได้การรับรองระบบมาตรฐานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางจากทั้งองค์กรภายในประเทศและองค์กรระดับนานาชาติ เช่น BRC (Global Standard for Food Safety) IFS: International Food Standard, HACCP Codex Alimentarius Commission, Halal Certificate, Kosher Certificate, GMP Codex Alimentarious Commission Recommended International Code of Practice General Principles of Food Hygiene, ISO22000, Food Safety System Certification 22000 เป็นต้น
          ปัจจุบันบริษัทแบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโภชนาการประจำวัน เช่น น้ำผลไม้ 100% น้ำนมข้าวโพด น้ำมะพร้าว กลุ่มฟังก์ชันนัล เช่น น้ำผลไม้ผสมน้ำแร่ น้ำผลไม้ผสมสารสกัดหญ้าหวาน  และกลุ่ม mass เช่น น้ำผลไม้ 40% ผลไม้กระป๋อง กลุ่มเป้าหมายของบริษัทค่อนข้างหลากหลาย มีตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงผู้ใหญ่วัย 50 เพราะเป็นสินค้าที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย  ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนในการขายในประเทศและต่างประเทศอยู่ที่ 80:20  ประเทศที่ส่งออกจะเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นหลักได้แก่ ลาว พม่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และ จีน เป็นต้น


ตลาดน้ำผลไม้ไทย


          ในปี 2557 ตลาดน้ำผลไม้พร้อมดื่มมีมูลค่าประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 311.59 ล้านลิตร โดยแยกเป็นตลาดน้ำผลไม้ 100% (Premium Market) 4.52 พันล้านบาทหรือประมาณ 65.64 ล้านลิตร  มีอัตราการเติบโตประมาณ 2% แบ่งเป็นตลาดยูเอชที 4.05 พันล้านบาท มีอัตราการเติบโต 2% และตลาดพาสเจอร์ไรส์ 0.47 พันล้านบาท มีอัตราการเติบโตลดลงประมาณ 3% ตลาดน้ำผลไม้ 40% - 99% (Medium Market) 0.74 พันล้านบาท หรือประมาณ 15.40 ล้านลิตร ตลาดน้ำผลไม้ 20%-39% (Economy Market) มีมูลค่า 3.3 พันล้านหรือประมาณ 116.72 ล้านลิตร  และตลาดน้ำผลไม้น้อยกว่า 19%  (Super Economy Market) 1.79 พันล้านบาท หรือประมาณ 64.49 ล้านลิตร ที่เหลือเป็นตลาดย่อยอื่นๆ มีมูลค่า 2 พันล้านบาท หรือประมาณ 49.3 ล้านลิตร 
          ตลาดถึงแม้จะชะลอตัวลงในปี 2557 แต่ก็ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้อีกในอนาคตเนื่องจากคนไทยดื่มน้ำผลไม้เฉลี่ยอยู่ที่เพียง 5 ลิตร/คน/ปี ซึ่งนับเป็นตัวเลขการบริโ ภคที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ  ผู้บริโภคยังคงใส่ใจในสุขภาพ และแนวโน้มจะมีมากขึ้นทุกๆ ปี การเปิดตัวของสินค้าใหม่ๆ ที่เน้นสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการเข้ามาของแบรนด์น้ำผลไม้ใหม่ๆ จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือคู่แข่งจากสินค้าทดแทนอื่นๆ ที่ต้องการเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งตลาดน้ำผลไม้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดนี้ยังมีไม่มาก ก็ช่วยทำให้การแข่งขันในตลาดน้ำผลไม้คึกคักขึ้น 
          ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ตลาดน้ำผลไม้พร้อมดื่มมีอัตราการเติบโตที่สูงมาโดยตลอด โดยบางปีสูงกว่า 10% เนื่องมาจากพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคเอง คู่แข่งขันรายใหม่ที่เกิดขึ้นในตลาดอย่างต่อเนื่อง การโหมโฆษณาและประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องของคู่แข่งรายหลัก การจัดรายการส่งเสริมการขายตลอดทั้งปีและผู้บริโภคเองก็มองหาความหลากหลายและรสชาติใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา จึงเป็นสิ่งกระตุ้นให้ตลาดมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง  แต่สภาพตลาดในปี 2557 ที่ผ่านมา กำลังซื้อที่น้อยของผู้บริโภคระดับล่างจากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงขณะที่ผู้บริโภคระดับบนระมัดระวังการใช้จ่ายต่อเนื่องแม้กำลังซื้อยังอยู่ในระดับดี เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อมูลค่าตลาดน้ำผลไม้ Economy Market  มีสัดส่วนลดต่ำลงมาก  มีการเปลี่ยนการบริโภคไปที่ category เครื่องดื่มอื่นๆ ที่ตอบโจทย์ในเรื่องความสดชื่น ดับกระหาย เช่น น้ำอัดลมหรือชาเขียว เป็นต้น ซึ่งมีการแข่งขันที่สูง และมีการทำรายการโปรโมชั่นตลอดเวลา ทำให้ภาพรวมตลาดน้ำผลไม้มีการเติบโตเพียงร้อยละ  2 (ที่มา: Nielsen, ธ.ค. 2557) 

สถานการณ์ด้านการผลิต วัตถุดิบ และแรงงาน
          ในการผลิตเครื่องดื่มน้ำผลไม้จะเป็นระบบปิดใช้เครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่ค่อยมีผลกระทบเรื่องขาดแคลนแรงงานมากนัก แรงงานที่ใช้ส่วนใหญ่จะอยู่ในขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ โดยเฉพาะผลไม้สด สำหรับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบันนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก  เช่นเดียวกับวัตถุดิบน้ำผลไม้เข้มข้นหลายชนิดที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากผลผลิตเกษตรในไทยมีไม่เพียงพอต่อการผลิตในระดับอุตสาหกรรม เช่น น้ำแอ้ปเปิ้ล น้ำองุ่น น้ำเบอร์รี่ ขณะที่ผลไม้เมืองร้อนก็จะรับซื้อจากเกษตรกรไทย ได้แก่ ส้ม ลิ้นจี่ มะเขือเทศ สับปะรด ฝรั่ง มะพร้าว และมะม่วง เป็นต้น โดยน้ำผลไม้ที่คนไทยนิยมอันดับ 1 ยังคงเป็นน้ำส้ม มีสัดส่วนตลาดถึงประมาณร้อยละ 60 ซึ่งบริษัทมีการผลิตน้ำส้มหลากหลายพันธุ์ให้ผู้บริโภคได้เลือกตามความต้องการทั้งจากส้มในประเทศและวัตถุดิบนำเข้า  โดยแหล่งวัตถุดิบที่มีศักยภาพมองว่าเป็นจีน เพราะเป็นแหล่งผลิตผลไม้ขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลาย
          สำหรับเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและรักษาคุณภาพของน้ำผลไม้ให้ใกล้เคียงธรรมชาติที่ต่างประเทศมีการนำมาใช้ มองว่ากระบวนการผลิตต้องเริ่มต้นตั้งแต่การสกัดน้ำออกจากวัตถุดิบ ซึ่งวัตถุดิบผลไม้ของไทยนั้นยังมีปริมาณไม่มากเพียงพอในความต้องการต่อการผลิตในระดับอุตสาหกรรม

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527