กุมภาพันธ์ 2558
อุตสาหกรรมกุ้งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (From Farm to Table) ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตกุ้งในประเทศเสียหายจากโรค EMS ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกกุ้งไทยลดลงมาก โดยปี 2555 มูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 15.6 ต่อเนื่องมาถึงปี 2556 ที่ลดลงร้อยละ 28.1 และประเมินว่าปี 2557 ที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกเหลือ 6.50 หมื่นล้านบาทลดลงร้อยละ 6.2 ขณะที่ปริมาณส่งออก 1.7 แสนตัน ลดลงร้อยละ 21.5 เมื่อเทียบกับปี 2556
อย่างไรก็ตาม จากความพยายามในการแก้ปัญหาจากทุกภาคส่วน คาดว่าในปี 2558 เป็นต้นไป สถานการณ์การผลิตและการส่งออกกุ้งไทยจะปรับตัวดีขึ้นและกลับมาเป็นสินค้าสำคัญ (Product champion) ที่สร้างรายได้ให้ประเทศได้อีกครั้งหนึ่ง
มุมมอง CEO
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับความอนุเคราะห์ จาก ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ให้สัมภาษณ์มุมมองด้านโอกาสและอุปสรรค ศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมกุ้งไทย รวมถึงแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการปรับตัวรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
สถานการณ์อุตสาหกรรมกุ้งไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การผลิตและการส่งออกกุ้งไทยเติบโตมาเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2552 ในขณะที่ปริมาณผลผลิตกุ้งของประเทศคู่แข่งที่สำคัญอย่างอินโดนีเซียลดลงมาก จากปัญหาโรคระบาด ส่งผลให้ไทยสามารถขยายปริมาณการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปเข้าไปทดแทนในตลาดที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯและญี่ปุ่น และเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่ส่งผลให้เกษตรกรของไทยหันมาเร่งผลผลิตให้มากขึ้นในปีต่อๆมา โดยในปี 2553 พบว่าปริมาณผลผลิตกุ้งในประเทศเพิ่มสูงถึง 6.3 แสนตัน
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาการเร่งเพิ่มปริมาณผลิตด้วยการเร่งรอบการเลี้ยงให้ถี่ขึ้นเป็น 2-3 รอบต่อปี การเพาะเลี้ยงที่ขาดความระมัดระวัง ความพิถีพิถันในการคัดเลือกลูกกุ้งที่อ่อนแอลดลง ส่งผลให้พ่อแม่พันธุ์กุ้งตัวเล็กลง ประกอบกับเมื่อเกิดโรคระบาด EMS (Early Mortality Syndrome) เมื่อ 2 ปีก่อนส่งผลให้ปริมาณผลผลิตกุ้งในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง และในปี 2557 ที่ผ่านมาปริมาณผลผลิตกุ้งในประเทศเหลือเพียง 2.3 แสนตัน
จากนั้นหลายภาคส่วนจึงช่วยกันเร่งแก้ปัญหาของโรค EMS ด้วยแนวทางสำคัญ 2 แนวทาง ได้แก่
1. เพิ่ม/พัฒนาพ่อแม่พันธุ์ผลิตลูก ที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง ขนาดตัวโต และปราศจากโรค
2. เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงให้ความสำคัญกับความสะอาดบ่อ และการเพาะฟักลูกกุ้ง (Nursery) ขจัดของเสียควบคุมไม่ให้เกิดการติดเชื้อ Vibrio parahemolyticus เนื่องจากพบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค EMS ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่ออัตราการรอดในการเลี้ยงกุ้ง (หากติดเชื้อจะทำให้กุ้งตายภายใน 30 วัน จึงเรียกว่าโรคกุ้งตายด่วน)
ปี 2558 คาดการณ์ผลผลิตจะสูงขึ้นที่ 3.0 แสนตัน
ปริมาณผลผลิตกุ้งในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ราคาจำหน่าย การเพาะเลี้ยง (ความสะอาดของบ่อ สภาพอากาศ) และความแข็งแรงสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรได้ปรับปรุงคุณภาพพันธุ์และวิธีการเพาะเลี้ยง แต่จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อาจส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตของลูกกุ้งลดลง และที่สำคัญ คาดว่าระดับราคาจะยังไม่จูงใจเพียงพอที่จะให้เกษตรกรขยายปริมาณการผลิตเพิ่มสูงมากนัก จึงคาดว่าใน ปี 2558 นี้ ปริมาณ
ผลผลิตกุ้งในประเทศน่าจะอยู่ที่ 3.0 แสนตัน
ปัจจัยที่ควรเฝ้าระวังในปีนี้
แม้ว่าความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้านปริมาณวัตถุดิบเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าและรักษาสถานภาพการเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก แต่กลับมี ปัจจัยต่างๆจากประเทศคู่ค้าในตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิต และความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรม รวมถึงปัจจัยด้านการตลาด เข้ามาเป็นปัจจัยที่ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในปีนี้
1. ถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) จากสหภาพยุโรปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมาอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลแปรรูปของไทย ถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) จากสหภาพยุโรป ซึ่งจะส่งผลให้สินค้ากุ้งแช่แข็ง ต้องกลับไปใช้เกณฑ์ภาษีการนำเข้าปกติร้อยละ 12 จากเดิมที่ได้รับสิทธิเก็บภาษีเพียงร้อยละ 4.2 ขณะที่ประเทศคู่แข่งรายใหญ่อย่างอินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนามที่ยังคงได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีอยู่ และเมื่อพิจารณาปัจจัยด้านค่าจ้างแรงงาน 300 บาทต่อวันรวมเข้าไปแล้ว จะทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยเพิ่มสูงขึ้นหากเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างอินโดนีเซียที่มีค่าแรงประมาณ 175 บาท หรือเวียดนามที่มีค่าแรงไม่ถึง 100 บาท ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ลดลงและแม้ว่าตลาดสหภาพยุโรปจะเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 มีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 14 แต่เหตุการณ์ข้างต้นเกิดเป็นแรงกดดันสำคัญให้ผู้ส่งออกพยายามหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อมาทดแทนตลาดสหภาพยุโรป