สวัสดี

Area based Industry

มองอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง โดย คุณบุญมี วัฒนเรืองรอง เลขาธิการสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย

ธันวาคม 2557

รายละเอียด :

          สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับความอนุเคราะห์จาก คุณบุญมี วัฒนเรืองรอง เลขาธิการสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย ในการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 โดยมีประเด็นสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังของไทย ซึ่งคุณบุญมี ได้สะท้อนให้เห็นดังนี้
 ทิศทางอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังในปี 2558

 

          สมาคมฯ เชื่อมั่นว่าความต้องการแป้งมันสำปะหลังยังคงมีมากเหมือนเช่นทุกปี อย่างไรก็ตาม จากการที่เราส่งออกอย่างมากในปี 2557 สต็อกสินค้าทั้งแป้งมัน มันเส้นและมันเม็ด มีเหลือน้อยมาก ด้านผลผลิตในฤดูกาลใหม่ก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยมากและมีแนวโน้มจะไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งหมด อาจเกิดภาวะการแย่งชิงวัตถุดิบหัวมันสำปะหลังสด จึงคาดหวังเพียงแค่รักษาปริมาณการส่งออกให้ได้มากเท่ากับปี 2557 เท่านั้น หรือหากสามารถส่งออกได้มากกว่านั้นก็ถือเป็นโอกาสที่ดีในการขยายตลาดแป้งมันสำปะหลังไทย

ประเด็นปัญหา อุปสรรคที่สำคัญ


          แม้จะส่งออกแป้งมันสำปะหลังได้มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก  ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังไทยก็ยังต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องพัฒนาตนเองเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป หรือที่มีเงื่อนไขต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น ความปลอดภัยทางอาหาร การผลิตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทยให้มากยิ่งขึ้น  สำหรับประเด็นปัญหา อุปสรรคที่สำคัญนั้นมี 3 ประการ คือ
     1) การผันผวนของราคาผลผลิตและผลิตภัณฑ์ เดิมมีความพยายามแก้ไขปัญหาในการบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทานให้สมดุลย์ เพื่อให้ราคามีเสถียรภาพมากขึ้นด้วยนโยบายแทรกแซงตลาดหัวมันสำปะหลัง โดยนำอุปทานส่วนเกินออกจากตลาดในช่วงฤดูผลผลิต แต่ก็มีปัญหามากในวิธีปฏิบัติ ในปี 2558 รัฐบาลใช้วิธีสนับสนุนสินเชื่อให้กับเกษตรกรเพื่อชะลอการขุดเก็บเกี่ยว รวมทั้งให้สินเชื่อผู้ประกอบการขนาดเล็กเพื่อแปรรูปและเก็บผลิตภัณฑ์ไว้ในคลังสินค้าก่อน เพื่อลดการเทขายในช่วงฤดูผลผลิต ถือว่าเป็นแนวทางเลือกใหม่ที่ดี แต่ต้องติดตามประเมินผลอีกครั้ง เนื่องจากอุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตรปรับตัวรวดเร็วและผันผวนมาก 
     2) นโยบายขอคืนพื้นที่ป่าจากเกษตรกร ที่ผ่านมาเกษตรกรปลูกพืชในพื้นทีไม่มีเอกสารสิทธิ์เป็นจำนวนมาก สำหรับมันสำปะหลังมีประมาณ 2 ล้านไร่ จากการปลูกมันสำปะหลังทั้งหมด 8.5 ล้านไร่ ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนที่มาก ทั้งนี้ สมาคมฯ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าวิธีดำเนินการเป็นอย่างไร แต่ปัญหานี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะมันสำปะหลังเท่านั้น ยังมีสินค้าเกษตรอีกหลายชนิด เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน เป็นต้น ที่ประสบปัญหาแบบเดียวกัน
     3) การทดสอบพืชดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) ในระดับไร่นา เรื่องนี้ผลักดันโดยนักวิชาการ และบริษัทเมล็ดพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากข้าวโพดให้ผลผลิตต่ำ ต้นทุนสูง ไม่สามารถแข่งขันได้ เกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นที่ได้รับผลตอบแทนมากกว่า  อุตสาหกรรมอาหารสัตว์จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน สมาคมฯ ไม่เห็นด้วยกับการเพาะปลูกพืช GMO เพราะสินค้าเกษตรหลักของประเทศส่วนใหญ่ไม่ต้องการ GMO มันสำปะหลังเป็นสินค้าหลักตัวหนึ่งที่มีจุดขายสำคัญเป็น Non-GMO ทำให้ผู้ซื้อทั่วโลกสนใจใช้แป้งมันสำปะหลังทดแทนแป้งข้าวโพดที่กำลังจะกลายเป็น GMO ไปหมดแล้ว ประเด็นที่มีความกังวลคือการปนเปื้อนของเศษซากพืชของข้าวโพด GMO ในโรงงานแป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากข้าวโพดและมันสำปะหลังมักปลูกสลับในพื้นที่เดียวกัน

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527