สิงหาคม 2564
นครปฐมเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางด้านตะวันตก และเป็นหนึ่งใน 5 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ 2,168 ตารางกิโลเมตร หรือ 1.355 ล้านไร่ มากเป็นอันดับที่ 66 จาก 77 จังหวัด
มีประชากร 920,000 คน อันดับที่ 25 ของประเทศ สัดส่วน 1.4% ของประชากรประเทศ แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ 106 ตำบล 904 หมู่บ้าน ซึ่งเขตการปกครอง 7 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองนครปฐม อำเภอนครชัยศรี อำเภอสามพราน อำเภอดอนตูม อำเภอบางเลน อำเภอกำแพงแสน และอำเภอพุทธมณฑล
สภาพภูมิประเทศของจังหวัดนครปฐมโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นที่ราบถึงค่อนข้างราบเรียบ ไม่มีภูเขาและป่าไม้ ระดับความแตกต่างของความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 2-10 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง สภาพพื้นที่โดยทั่วไปลาดจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ และตะวันตกสู่ตะวันออกมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่านจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ พื้นที่ทางตอนเหนือและทางตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่เป็นที่ดอน ส่วนพื้นที่ทางตอนกลางของจังหวัดเป็นที่ราบลุ่ม มีที่ดอนกระจายเป็นแห่งๆ และมีแหล่งน้ำกระจาย สำหรับพื้นที่ด้านตะวันออก และด้านใต้เป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน มีคลองธรรมชาติและคลองซอยที่ขุดขึ้นเพื่อการเกษตรและคมนาคมอยู่มาก พื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 2-4 เมตร อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 24 องศาเซลเซียสในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน
จังหวัดนครปฐมเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ โดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด(Gross Provincial Product: GPP) ณ ราคาประจำปี 2562 เท่ากับ 354,913 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.1 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ (GDP) โดยมีสาขาการผลิตที่สำคัญอันดับที่ 1 คือ สาขาอุตสาหกรรม มีสัดส่วนร้อยละ 54.4 มีมูลค่าเท่ากับ 192,997 ล้านบาท รองลงมาอันดับที่ 2 คือ สาขาบริการ มีสัดส่วนร้อยละ 40.0 มีมูลค่าเท่ากับ 141,843ล้านบาท และสาขาเกษตร มีสัดส่วนร้อยละ 5.7 มีมูลค่าเท่ากับ 20,073 ล้านบาทจังหวัดนครปฐมมีผลิตภัณฑ์มวลรวมเฉลี่ยต่อหัว (GPP per capita) มูลค่า 295,818 บาท/คน/ปี อยู่ในลำดับที่ 12 ของประเทศ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ 243,787 บาท/คน/ปี โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จังหวัดมีการเพิ่มขึ้นของมูลค่าผลิตภัณฑ์เฉลี่ยต่อหัวมาโดยตลอดจาก 262,490 บาท/คน/ปี ในปี 2557 เป็น 295,818 บาท/คน/ปี ในปี 2562 ซึ่งอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวของจังหวัดนครปฐมเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 และสูงกว่าอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวของประเทศ
จังหวัดนครปฐมมีครัวเรือนเกษตรกร 50,000 ครัวเรือน มีพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 680,000 ไร่คิดเป็นร้อยละ 50 ของพื้นที่จังหวัด จังหวัดนครปฐมก็ยังถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของภาคกลางและของประเทศทั้งในด้านการเพาะปลูกพืชไร่ ไม้ผล การทำปศุสัตว์ และประมง โดยผลผลิตหลักมาจากพืชเศรษฐกิจสำคัญ คือ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน กล้วยไม้ และส้มโอ ส่วนผลผลิตปศุสัตว์มาจากการเลี้ยงไก่เนื้อ สุกร โคเนื้อ และเป็ด ในขณะที่ผลผลิตประมงนั้นมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น
จังหวัดนครปฐมมีโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ (สะสม) ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 จำนวนทั้งสิ้น 3,166 โรง จำนวนคนงาน 200,220 คน เงินลงทุนรวม 166,340 ล้านบาท จังหวัดนครปฐมมีอุตสาหกรรมหลักคืออุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมหลักที่นำรายได้เข้าจังหวัดเป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนจากความพร้อมด้านวัตถุดิบจากภาคเกษตรกรรมในพื้นจังหวัดและจังหวัดข้างเคียง รวมถึงการขยายการลงทุนจากผู้ประกอบการที่เคยมีฐานการผลิตทั้งในกรุงเทพฯ และสมุทรสาคร มาเมื่อประมาณ 20-30 ปีก่อน
download PDF ย้อนกลับ