มิถุนายน 2559
ขนมขบเคี้ยวหรือตามภาษาที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า อาหารว่าง (snack) เป็นอาหารที่มักรับประทาน ระหว่าง มื้อในยามพักผ่อนหรือยามว่าง หรือจัดให้รับประทานในงานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆ มักทำจากมันฝรั่ง ข้าว ข้าวโพด ถั่ว เนื้อ หรือปลา นำมาปรุงรสแล้วผ่านกรรมวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอบ ทอด แล้วนำมาฉีกหรือรีดเป็นเส้นๆ หรือแผ่นบางๆ
ปลาเส้นปรุงรสเป็นอาหารว่างอีกชนิดหนึ่ง ที่เป็นที่นิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กๆ และสาวๆ ที่กลัวอ้วนทั้งหลาย เพราะมีการโฆษณาโดยเน้นจุดขาย "ไขมันต่ำและโปรตีนสูง" แทนที่ขนมขบเคี้ยวประเภทอื่นๆ ซึ่งมีทั้งแป้ง น้ำตาลและไขมัน
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับบริษัท
บริษัท ดาสมุทร จำกัด เป็นผู้จำหน่ายปลาเส้นและอาหารทะเล แปรรูปทุกชนิด โดยเป็นหนึ่งในผู้ค้าส่งปลาเส้นรายใหญ่ของประเทศไทย เปิดดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 โดยช่วงแรกเปิดดำเนินงานภายใต้ชื่อ “คุณดา” โดยผลิตสินค้าภายใต้ตราสินค้าท้องถิ่นมากมาย อาทิเช่น FULLFISH, RICHO, FRESHFISH, KHUNDA โดยการคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน HACCP, GMP ทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ปัจจุบันมีโรงงานผลิตตั้งอยู่ที่ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งใกล้กับตลาดมหาชัย ซึ่งเป็นแหล่งรวมวัตถุดิบทางด้านอาหารทะเลของประเทศไทย ทำให้ทางบริษัทสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพจากแหล่งวัตถุดิบที่ดี
สถานการณ์การผลิต การตลาด และภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมขนมขบเขี้ยว(ปลาเส้น) ของไทย
สถาการณ์การแข่งขันของตลาดอุตสาหกรรมปลาเส้นในปัจจุบันไม่ได้มีการแข่งขันที่รุนแรงมากนัก เนื่องจากปลาเส้นแต่ละแบรนด์มีตลาดกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน โดยมีลักษณะกลุ่มลูกค้าที่แยกออกจากกันค่อนข้างชัดเจน และมักจะมีการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่มาให้ผู้บริโภคที่เลือกมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากปลาเส้นปกติธรรมดา เช่น นำไปอบ นำไปทอดในรูปแบบต่างๆ ปลาเส้นสอดไส้งา ปลาเส้นสอดไส้ชีส เป็นต้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและเพิ่มความหลากหลายให้ผู้บริโภคมากขึ้น
ในด้านสถานการณ์การผลิตในปัจจุบันสามารถรองรับการเจริญเติบโตของตลาดในประเทศได้เพียงพอประกอบกับสภาพสภาวะเศษฐกิจในปัจจุบันทำให้ตลาดปลาเส้นไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดด
ทิศทางอุตสาหกรรมขนมขบเขี้ยว(ปลาเส้น) ในปี 2559
สำหรับตลาดในประเทศ จากแนวโน้มทางเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา ทำให้คาดการณ์ว่าจะมีกำลังซื้อลดลงอย่างมาก เนื่องจากคนระมัดระวังในการใช้เงินมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องหากลยุทธ์ในการกระตุ้นตลาด การจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย ได้แก่ การลด แลก แจกแถม ผ่านร้านสะดวกซื้อ Superstore มีการออกสินค้าใหม่เพื่อกระตุ้นตลาด เป็นต้น ในสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยลบดังกล่าง ก็มีปัจจัยบวกคือกระแสการบริโภคเพื่อสุขภาพ เทรนอาหารคลีน ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ส่งผลให้ผู้บริโภคใส่ใจในสินค้าที่เลือกซื้อมากยิ่งขึ้น ซึ่งสินค้าปลาเส้นก็เป็นหนึ่งในขนมขบเขี้ยวที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพจึงเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้รักสุขภาพเลือกทานเป็นของว่าง ทำให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคสินค้าปลาเส้นมากยิ่งขึ้น
ในตลาดต่างประเทศ หากมองในกลุ่มประเทศ AEC ปลาเส้นของประเทศไทยได้รับความนิยมในประเทศกลุ่ม CLMV ค่อนข้างมากเนื่องด้วยราคาที่ถูกกว่าญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และเป็นสินค้าที่มีคุณภาพราคาสมเหตุสมผลในสายตาของผู้บริโภค CLMV ทำให้ตลาดปลาเส้นในประเทศในกลุ่มนี้ถือว่ามีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
การเปิด AEC จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมขนมขบเขี้ยว(ปลาเส้น) อย่างไร
การเปิด AEC น่าจะส่งผลบวกต่อปลาเส้น เพราะอุตสาหกรรมปลาเส้นของประเทศไทยมีขนาดค่อนข้างใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศใน AEC ด้วยกันและด้วยราคาสินค้าไทยสมเหตุสมผลกับค่าครองชีพในกลุ่มประเทศ AEC ทำให้การเปิด AEC น่าจะส่งผลบวกกับสินค้าประเทศปลาเส้นของไทยได้
เมื่อเปรียบเทียบขนาดของตลาด ในเมืองไทยมีมูลค่าตลาดประมาณ 3,500 ล้านบาท ต่อประชากร 65 ล้านคน แต่ในประเทศ CLMV มีประชากรประมาณเกือบ 200 ล้านคน ตลาดปลาเส้นในประเทศ CLMV ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีของอุตสาหกรรมปลาเส้นในเมืองไทยที่มีโอกาสเติบโตในกลุ่มประเทศนี้ชดเชยตลาดในเมืองไทยที่มีการขยายไม่มากนัก และอนาคตอาจจะมีขนาดตลาดที่มากกว่าในเมืองไทย
อุตสาหกรรมขนมขบเขี้ยว(ปลาเส้น) ของไทยในระยะยาว
กระบวนการผลิตปลาเส้นใช้เครื่องจักรเป็นหลัก ดังนั้นเรื่องแรงงานอาจจะไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมปลาเส้นต้องย้ายฐานการผลิต แต่เรื่องวัตถุดิบอาจจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากกว่าเพราะ ทรัพยากรทางด้านปลาของเมืองไทยอาจจะลดน้อยลงในอนาคตทำให้เราอาจจะต้องนำเข้าปลาจากต่างประเทศมาก แต่ด้วยการเปิดของ AEC แล้ว ทำให้การเคลื่ยนย้ายของวัตถุดิบค่อนข้างง่ายขึ้น ดังนั้นอุตสาหกรรมปลาเส้นของประเทศไทยคงยังไม่ย้ายฐานการผลิตในเร็วๆนี้แน่นอน แต่ถ้าหากในอนาคตมีการกีดกันการค้ามากขึ้น การย้ายฐานการผลิตอาจจะเป็นตัวช่วยในการส่งออกและการขยายตลาด ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลในการย้ายฐานการผลิตเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายและคงไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้แน่นอน
แนวทางทางในการพัฒนาปลาเส้นสำหรับตลาดในเมืองไทยจะเป็นไปในลักษณะการคิดค้นและต่อยอด สร้างมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ปลาเส้น เช่น การนำไปประกอบสาหร่าย การนำไปอบแล้วปรุงรสเพิ่มเติม การนำปลาเส้นไปสอดไส้ต่างๆ เป็นต้น โดยการเพิ่มรสชาติของผลิตภัณฑ์ปลาเส้นจะลดน้อยลง เนื่องจากผู้ผลิตต้องการสร้างความแตกต่างและดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายให้ซื้อสินค้าของตนเอง
ในระยะสั้น ภาครัฐควรกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชนทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจดีขึ้น และทำให้คนมีกำลังจับจ่ายใช้ส่อยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อทุกอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ในระยะกลางนั้น ภาครัฐควรส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ปลาเส้นเป็นสินค้าส่งออกให้มากขึ้น โดยสนับสนุนในการออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศให้มากขึ้น การช่วยให้ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กในการได้รับรับรองมาตราฐานต่างๆ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ โดยปัจจุบันรัฐให้งบประมาณผ่านสถาบันต่างๆ เช่น สถาบันอาหาร เพื่อช่วยผู้ประกอบในการให้สินค้ามีมาตราฐาน ผ่านการรับรองที่เป็นสากล แต่งบประมาณที่มีจำกัดส่งผลให้การเข้าถึงซึ่งบริการต่างๆเหล่านั้นของผู้ประกอบการได้ไม่ทั่วถึง ดังนั้นถ้ารัฐบาลสนับสนุนงบตรงส่วนนี้ก่อนทำให้ผู้ประกอบมีความพร้อม การออกงานแสดงสินค้าจะง่ายขึ้นและสินค้าก็จะพร้อมส่งออกได้ทันทีเมื่อมีคู่ค้าติดต่อมา
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของระยะยาว ภาครัฐควรวางแผนสนับสนุนสินค้าอาหารไทยให้ทุกคนมีความไว้วางใจว่าอาหารจากเมืองไทยมีคุณภาพ ราคาสมเหตุสมผล ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ หรือสินค้าที่แปรรูปแล้ว ทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ทางด้านอาหารเป็นอันดับต้นๆของโลกต่อไป
download PDF ย้อนกลับ