สวัสดี

Area based Industry

อุตสาหกรรมอาหารเสริม โดย คุณเทียนชัย กีรสว่างพร ประธาน บริษัท ยาดี จำกัด

เมษายน 2559

รายละเอียด :

ในปี 2558 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในประเทศไทย มีมูลค่าตลาดรวมนับแสนล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่ผู้บริโภคได้รับการศึกษาและใส่ใจต่อสุขภาพของตนเองมากขึ้น จึงส่งผลให้ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเติบโตตามไปด้วย ประกอบกับวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมเมืองที่รีบเร่งทั้งเรื่องงานและเรื่องเรียน ทำให้คนไม่มีเวลาออกกำลังกายและเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จึงจำเป็นต้องหาตัวช่วยที่จะมาปกป้องและเสริมสร้างสุขภาพ ดังนั้นตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงเป็นตลาดที่มีความน่าสมใจมากในปัจจุบัน และเพื่อสามารถมองภาพของอุตสาหกรรมอาหารเสริมให้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น   สถาบันอาหารจึงได้รับเกียรติในการสัมภาษณ์ คุณเทียนชัย กีรสว่างพร ประธาน บริษัท ยาดี จำกัด มาบอกเล่าสถานการณ์ของธุรกิจอาหารเสริมและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี 2559  

 

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับบริษัท

          บริษัท ยาดี จำกัด ดำเนินธุรกิจมาเป็นระยะเวลาประมาณ 6 ปี โดยในเริ่มแรกมองว่าธุรกิจอาหารเสริมจากสมุนไพรไทยเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ ประกอบกับกลุ่มคนที่เชียวชาญด้านสมุนไพรไทยยังมีจำนวนจำกัดอยู่ จึงเห็นช่องทางและโอกาสในการพัฒนาสมุนไพรไทยในเชิงพาณิชย์ และได้มีการวิจัยและพัฒนาสูตรสมุนไพรไทย จนสามารถคิดค้นสูตรสมุนไพรมาประมาณ 5-6 สูตร จึงมีความคิดที่จะจัดตั้งโรงงานขึ้น เพื่อเป็นการผลิตในเชิงพาณิชย์และนำไปสู่การผลิตอาหารเสริมสมุนไพรในมาตรฐานสากล

          ปัจจุบัน บริษัท ยาดี จำกัด เป็นบริษัทชั้นนำทางด้านผลิตอาหารเสริมที่ใช้สารสกัดจากสมุนไพร อาทิ โสม กระชายดำ และตังถั่งเฉ้า มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ ถนนรามอินทรา และมีโรงงานผลิตอาหารเสริมตั้งอยู่ที่ลำลูกกา ซึ่งบริษัทกำลังสร้างโรงงานใหม่เพิ่มอีกหนึ่งโรงงาน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในอนาคต อาหารเสริมที่ได้รับความนิยมของบริษัท ได้แก่ กลุ่มบำรุงกำลังและปรับความสมดุลภายในร่างกายทั้งเพศชายและหญิง เช่น สร้างความสมดุลของระดับความดันโลหิต ระบบประสาท และระบบขับถ่าย และลดอาการบกพร่องหรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย

          นอกจากทางบริษัทจะผลิตอาหารเสริมภายใต้แบรนด์ของตัวเองแล้ว ทางบริษัทยังมีการรับจ้างผลิตสินค้าประเภทอาหารเสริมให้กับลูกค้าที่สนใจทำธุรกิจส่วนตัวอีกด้วย โดยทางบริษัทจะมีบริการให้คำปรึกษา แนะนำช่องการจัดจำหน่าย และประเมินหากลุ่มเป้าหมายสำหรับการจำหน่ายสินค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความมั่นใจในการประกอบธุรกิจอาหารเสริม

          ทางด้านการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ ทางบริษัทมีแผนที่จะส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศอย่างเต็มตัวในอนาคต โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการหาตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ และในช่วงแรกมีเป้าหมายในการขยายตลาดไปประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก อาทิ เมียนมาร์ และสปป.ลาว

 

สถานการณ์การตลาด และภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารเสริมของไทย

          อาหารเสริมเป็นอุตสาหกรรมที่มีความน่าสนใจ และมีแนวโน้มเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต จากกระแสคนรักสุขภาพที่กำลังมาแรงเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่การที่อุตสาหกรรมอาหารเสริมจะสามารถเติบโตได้ในระยะยาวนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องให้ความใส่ใจกับการทำการตลาด เพราะการตลาดถือเป็นส่วนสำคัญมากที่จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของธุรกิจอาหารเสริม อีกทั้งยังเป็นส่วนที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างที่สูง จึงควรพิจารณาในการเลือกช่องที่ต่างๆ ในการทำการตลาดให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

          การตลาดเป็นการบอกเล่าเรื่องราวและการสร้างความจงรักภักดีในตัวสินค้า ซึ่งการที่จะให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นและจงรักภักดีในตัวสินค้าได้นั้น จำเป็นต้องหาความต้องการของผู้บริโภคให้ได้ก่อนว่าพวกเขาต้องการอะไร และมีสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้แล้วหรือยัง ในการหาความต้องการของผู้บริโภคมีหลายวิธี โดยผู้ประกอบการอาจสอบถามหรือพูดคุยกับตัวแทนการจัดจำหน่าย เพื่อรับรู้ถึงความต้องการของผู้บริโภคที่มีการบอกความต้องการผ่านตัวแทนการจัดจำหน่าย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังจำเป็นต้องใส่ใจกับคุณภาพของสินค้าไม่แพ้กัน เพราะถ้าผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมีสรรพคุณตรงตามที่กล่าวอ้างไว้ ย่อมเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความจงรักภักดีในตัวแบรนด์และจะผลส่งต่อยอดขายสินค้าในระยะยาว

          ในเรื่องภาวะการแข่งขันในธุรกิจอาหารเสริมพบว่า การแข่งขันในกลุ่มนี้ยังไม่มีความรุ่นแรงมากนัก แต่จะพบปัญหาเรื่องการเลียนแบบสินค้า เพราะเมื่อสินค้าใดได้รับความนิยมในตลาด ก็จะพบสินค้าเลียนแบบเกิดขึ้นตามมาในระยะเวลาไม่นาน เพราะต้องการแย่งส่วนแบ่งการตลาด จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรระมัดระวังและหาวิธีป้องกันการเลียนแบบสินค้าของตนเอง

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527