มีนาคม 2559
ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วโลก ซึ่งรวมถึงผักผลไม้แปรรูปแช่เย็นแช่แข็งที่มีจุดเด่นด้านความหลากหลาย ความหวานหอมอร่อย การคงรสชาติได้เหมือนผลสด และมีผลผลิตสลับสับเปลี่ยนออกสู่ท้องตลาดอย่างต่อเนื่องทั้งปี รวมถึงเทคโนโลยีการผลิต/แปรรูปที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัยกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค ปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ผักผลไม้แช่เย็นแช่แข็งสร้างรายได้ให้ประเทศ 52,138 ล้านบาท หรือประมาณ 1,546 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 12.1 และร้อยละ 8.9 ตามลำดับ
ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน เวียดนาม ฮ่องกง สิงคโปร์ รวมถึงญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โดยสับปะรด ทุเรียน ลำไย มังคุด มะม่วง เป็นผลไม้แช่เย็นแช่แข็งส่งออกที่สำคัญ ขณะที่ผักแช่เย็นแช่แข็งส่งออกที่สำคัญอันดับต้นๆ ได้แก่ ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว ข้าวโพดหวาน หน่อไม้ฝรั่ง หอมหัวใหญ่ หอมหัวเล็ก และกระเทียม
มุมมอง CEO
ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร ได้รับเกียรติจากว่าที่ ร.อ.ปัญญา ชัยรัตนพานิช กรรมการผู้จัดการบริษัท กรีนเดลี่ ฟู้ดส์ จำกัด (GREEN DELI FOODS CO.,LTD.) ให้สัมภาษณ์ถึงมุมมองด้านศักยภาพการผลิต โอกาสและอุปสรรค แนวทาง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการปรับตัวรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของอุตสาหกรรมผักผลไม้แปรรูปแช่เย็นแช่แข็ง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ประวัติบริษัท
บริษัท กรีนเดลี่ ฟู้ดส์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2546 ด้วยทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท ปัจจุบันมีคนงาน 50 คน ยอดขายเติบโตราวร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับภาพรวมอุตสาหกรรม เริ่มแรกดำเนินธุรกิจจำหน่ายผักสดแบบซื้อมาขายไป ต่อมาได้มีการพัฒนาแปรรูปด้วยการหั่น ตัดแต่ง และเก็บรักษาแบบแช่เย็น แช่แข็ง และบรรจุกระป๋อง เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร นำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสำเร็จรูปต่อไป
ผลผลิตของบริษัทส่วนใหญ่เป็น “ผักแปรรูป” โดยปัจจุบันมีการแปรรูป 2 วิธี ได้แก่ “การผลิต/แปรรูป แบบ Mass Product” ซึ่งผลิตอยู่ไม่มากนัก มีเพียง 1-2 ประเภทเท่านั้น คือ ผักกระป๋อง ข้าวโพดหวาน แช่แข็ง และ “การผลิต/แปรรูปแบบ Make to order” ซึ่งเป็นการแปรรูปตามคำสั่งซื้อของลูกค้า บริษัทฯมีบริการรถห้องเย็นนำส่งได้วันต่อวัน ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารต้องการผลผลิตในลักษณะนี้มาก แต่ปัจจุบันพบว่ามีโรงงานแปรรูปวัตถุดิบผักผลไม้ที่ได้มาตรฐานราว 10 รายเท่านั้น ส่งผลให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ด้านแนวทางการดำเนินงานนั้น บริษัทฯให้ความสำคัญกับระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) มาก เนื่องจากปัจจุบันมีข้อกำหนดทางการค้ามากขึ้น ประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศเริ่มบังคับใช้กฎหมายในการตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาวัตถุดิบ ดังนั้น เพื่อให้คู่ค้าและ/หรือผู้บริโภคเกิดความมั่นใจถึงแหล่งที่มาและมีเอกสารรับรอง จึงได้จัดตั้ง “บริษัท กรีนออแกนิกฟาร์ม” ขึ้น เพื่อบูรณาการมาตรฐานการผลิตตั้งแต่การเพาะปลูกต้นน้ำ การบริหารจัดการหลังการเก็บเกี่ยว โดยมีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ 2 เขต ได้แก่ พื้นที่เพาะปลูกผักผลไม้เมืองหนาว อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ และพื้นที่เพาะปลูกผักผลไม้ทั่วไป อาทิ อยุธยา นอกจากนี้การวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นอีกประเด็นที่สำคัญเช่นกัน เพื่อสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ โดยร่วมมือกับ มทร.ราชมงคลสุวรรณภูมิ พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ อาทิ น้ำนมข้าวโพดสีม่วงออร์แกนิก เส้นผัดไท เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ผลิตจากวัตถุดิบผักล้วน (ปราศจากแป้ง) มะม่วงเคลือบช็อกโกแลตและสับปะรดภูแลเสียบไม้แช่แข็งแยกถุงบรรจุ เป็นต้น
ปัจจุบัน บริษัทฯกำลังสร้างโรงงานแปรรูปแห่งใหม่เน้นการผลิต “ผลไม้แปรรูป” โดยช่วงเริ่มต้นวางแผนส่งออกไปยังตลาดแถบเอเชียก่อนอย่างจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และขยายไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกาต่อไป
download PDF ย้อนกลับ