กุมภาพันธ์ 2559
ด้วยภารกิจงานวิจัยเพื่อค้นหาโอกาสในตลาดใหม่ทำให้ทีมนักวิจัยสถาบันอาหาร ได้มีโอกาสเดินทางไปยังแหล่งผลิตอาหารทะเลที่สำคัญของไทยในภาคใต้คือจังหวัด สงขลา ที่นี่เราได้เข้าพบ คุณสมนึก โชติวัฒนะพันธุ์ หนึ่งในกรรมการบริหาร บริษัท ห้องเย็นโชติวัฒน์หาดใหญ่ จำกัด (มหาชน), KST และยังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทูน่าและแซลมอนกระป๋องที่สำคัญของไทย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายบริษัท อยู่ภายใต้เครือโชติวัฒน์ (CMC) ทีมสถาบันอาหารจึงขอนำบางส่วนของประเด็นที่ได้พูดคุยมาเผยแพร่เพื่อเป็นแนว ทางแก่อุตสาหกรรมอาหารรายอื่นๆ
เกี่ยวกับบริษัท
คุณเกรียงไกรและคุณนันทนา โชติวัฒนะพันธุ์ เริ่มธุรกิจครอบครัวจากการนึ่งปลาทูสดขาย ในตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แต่เนื่องจากปลาทูไม่ได้มีขายตลอดปีและไม่มีที่จัดเก็บ จึงเปลี่ยนมาเปิดกิจการแพปลา ด้วยการรับซื้อปลาสดจากชาวประมงจากทั้ง 2 ฝั่งทะเลของภาคใต้ ทำให้มีปลาหลากชนิด และคุณภาพดีมาขายในตลาดหาดใหญ่ และเมื่อมีปริมาณปลามากขึ้น ก็เริ่มคัดส่งไปขายในประเทศมาเลเซีย ปี 2506 ได้ก่อตั้ง "ห้างหุ้นส่วนจำกัดเคี่ยงฮวด" เพื่อขยายธุรกิจอาหารทะเลสดและส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ปี 2510 ได้ขยายแพปลาเพิ่มทั้งใน จ.สงขลา จุดขนถ่ายวัตถุดิบจากฝั่งทะเลตะวันออก และ จ.กระบี่ จุดขนถ่ายวัตถุดิบจากฝั่งทะเลตะวันตก นอกจากนี้ ยังได้นำวัตถุดิบที่เหลือจากการคัดขาย มาเพิ่มมูลค่าด้วยการทำเป็นอาหารทะเลแห้งและผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส ได้แก่ กระเพาะปลาแห้ง กุ้งแห้ง และน้ำปลา เป็นต้น โดยจำหน่ายในตลาดท้องถิ่น และได้ตั้ง "โรงงานปลาป่นภาคใต้" ในปี 2512 เพื่อรองรับการแปรรูปผลผลอยได้จากธุรกิจแพปลา และในปี 2520 ได้เริ่มกิจการขนส่งรถตู้แช่เย็นเพื่อรองรับการขนถ่ายอาหารทะเลสด จากแพปลา บริษัท ห้องเย็นโชติวัฒน์หาดใหญ่ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งเมื่อปี 2521 ผลิตอาหารทะเลแช่แข็งเพื่อการส่งออก มีสำนักงานใหญ่และโรงงานแห่งที่ 1 ตั้งอยู่ที่อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา ปี 2524 ขยายเพิ่มอาคารเพื่อผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง นับเป็นการเริ่มต้นปรับธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกอย่างเต็มตัว โดยเปิดตลาดใหม่ทั้งในอเมริกาเหนือและยุโรป และ "โชติวัฒน์" ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการอุตสาหกรรมผลิตทูน่าบรรจุกระป๋องนับแต่นั้นมา ปี 2531 ก่อตั้ง "บริษัท โชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต จำกัด" หรือ CMC โดยสร้างโรงงานแห่งใหม่บนที่พื้นที่ 48 ไร่ ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท เพื่อผลิตและส่งออกเฉพาะอาหารสำเร็จรูปบรรจุกระป๋องเพียงอย่างเดียว เป็นการขยายหน่วยธุรกิจออกมาจาก KST เพื่อรองรับความต้องการของตลาดยังมีอยู่มาก โดยยกระดับมาตรฐานโรงงานและมุ่งพัฒนาคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สนองตอบต่อความต้องการที่หลากหลายของลูกค้านานาประเทศ ทั้งผลิตภัณฑ์ทูน่าและผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ปัจจุบัน CMC มีกำลังการผลิตรวม 400 ตันต่อวัน
สถานการณ์การผลิตอาหารทะเล
บริษัท ห้องเย็นโชติวัฒน์หาดใหญ่ จำกัด (มหาชน) , KST มีโรงงาน 2 แห่ง ตั้งอยู่ที่ตำบลนาหม่อม อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา และตำบลบางริ้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ผลิตกุ้งแช่แข็ง ในปัจจุบันบริษัทฯ ถือหุ้นในบริษัทย่อย 1 แห่ง คือ บริษัท เทพพิทักษ์ซีฟูดส์ จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ประกอบธุรกิจผลิตปลาหมึกและปลา เพื่อการส่งออก และนอกจากนี้บริษัทฯยังถือหุ้นในบริษัทร่วมอีก 1 แห่ง คือ Kiang Huat Seagull Trading Frozen Food Sdn. Bhd., ตั้งอยู่ใน รัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย KST บริษัทย่อยฯและบริษัทร่วมฯ ประกอบกิจการผลิตอาหารทะเลแช่แข็งเพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างๆ ทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทฯ เช่น SEA CHAMPION, SEA KING, SEA QUEEN, SEA FLOWER และ SEA STAR เป็นต้น โดยบริษัทได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพต่างๆ มากมาย อาทิ เช่น GMP, HACCP, HALAL, ISO 9001, ISO 14001 เป็นต้น
ลักษณะของผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ นั้นจะมีกุ้งและกั้งเป็นวัตถุดิบ โดยเริ่มจากการนำกุ้งและกั้งสดที่จัดซื้อมาผ่านกระบวนการแปรรูปเบื้องต้น มีทั้งแบบคงสภาพไว้ทั้งหัว เอาหัวออก หรือปอกหัวและเปลือกออก ให้เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบลักษณะต่างๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ หลังจากนั้นจะนำไปผ่านกระบวนการแช่เยือกแข็งตามเทคนิคเพื่อจะได้ถนอมรักษาคุณค่าและรสชาติของผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในสภาพที่สดและสะอาดจนถึงผู้บริโภค ซึ่งสามารถแบ่งเป็น
1. HEAD-ON,SHELL-ON คือ กุ้งที่อยู่ในสภาพธรรมชาติที่มีหัว เปลือกและหางอยู่ครบ
2. HEADLESS คือ กุ้งที่ถูกเด็ดหัวออก แต่ลำตัวยังมีเปลือกและหางอยู่ครบตามธรรมชาติ
3. PEELED คือ กุ้งที่เอาหัวและเปลือกออกทั้งตัวแล้ว มีทั้งชนิดชักไส้ (DEVEINED) และไม่ชักไส้
(UNDEVEINED)
4. กุ้งยืด คือ นำกุ้งมาปอกเปลือกไว้หาง และจัดรูปให้กุ้งยืดตรง
5. กุ้งชุบเกล็ดขนมปัง คือ นำกุ้งมาปอกเปลือกไว้หาง จัดรูปให้กุ้งยืดตรงและชุบเกล็ดขนมปัง
สำหรับลักษณะของผลิตภัณฑ์ของบริษัทย่อยของบริษัทฯ มีปลาหมึกและปลาเป็นวัตถุดิบ เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารแช่เยือกแข็ง โดยใช้เทคนิคการแช่เยือกแข็งมาใช้เพื่อคงคุณค่าและสภาพความสดของผลิตภัณฑ์ให้มากที่สุด การผลิตอยู่ภายใต้มาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานระหว่างประเทศและได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากลูกค้าต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจะเป็นอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง ซึ่งประกอบไปด้วย หมึกกล้วย หมึกกระดอง หมึกสาย หมึกหอม และปลาต่าง ๆ ตามที่ลูกค้าสั่ง
ระบบแช่เยือกแข็งที่บริษัทใช้ในปัจจุบันมีอยู่ 3 ระบบ คือ
1. ระบบผลิตภัณฑ์ที่เป็น Block โดยนำผลิตภัณฑ์ใส่ถาดเติมน้ำ เข้าแช่เยือกแข็งกับตู้ Contact Plate
Freezer โดยการแลกเปลี่ยนความร้อนโดยผ่านการสัมผัสระหว่างแผ่น Plate กับถาดสินค้า โดยใช้
อุณหภูมิประมาณ -40 ◦C เป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
2. ระบบ Semi-IQF (Individual Quick Frozen) โดยการนำผลิตภัณฑ์ใส่ถาดเข้าไปในเครื่องแช่เยือกแข็งที่ใช้ลมหมุนเวียน โดยใช้อุณหภูมิประมาณ -40 ◦C เป็นเวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมง
3. ระบบ IQF เป็นการแช่แข็งอาหารทะเลสดและกึ่งสำเร็จรูปแบบเป็นชิ้นๆ โดยใช้อุณหภูมิประมาณ -40 ◦C เป็นเวลาประมาณ 15-30 นาที
อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor intensive) และใช้เทคโนโลยีน้อย เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง มีวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีน้อย
ปัจจุบัน KST และบริษัทย่อยฯ มีเครื่องจักรและบุคลากรเพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังการผลิตของเครื่องจักร ใช้กำลังการผลิตประมาณ 25-30% เท่านั้น ดังนั้นบริษัทฯ ยังสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตโดยไม่ต้องเพิ่มเครื่องจักร และมีการจ้างแรงงานรวม 2,106 คน
แหล่งที่มาของวัตถุดิบกุ้งบริษัทฯ ไม่ได้พึ่งพาการซื้อวัตถุดิบกุ้ง จากผู้จำหน่ายรายใดเกินร้อยละ 30 ของมูลค่าการจัดซื้อวัตถุดิบกุ้ง โดยบริษัทฯจัดซื้อจากแหล่งต่างๆ 3 ลักษณะหลัก ๆ ดังนี้
1. จากนายหน้าแพปลาและสะพานปลาต่าง ๆ ที่ส่งวัตถุดิบกุ้งเข้ามาขายที่โรงงานโดยตรง และผ่านการคัดเลือกเป็นผู้ส่งมอบวัตถุดิบกุ้งที่ดี (Approved Vendor List) ประมาณ 70-80 ราย โดยครอบคลุมเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ที่เป็นที่ตั้งของแพต่าง ๆ
2. จากฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้ง โดยครอบคลุมเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้และภาคกลางบางส่วน เช่น ระนอง
ชุมพร พังงา สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี เป็นต้น
3. ในส่วนของวัตถุดิบกุ้งที่ไม่ใช่อาหารทะเล เช่น แป้ง ส่วนผสมอาหาร บริษัทจะสั่งซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง
ส่วนวัตถุดิบปลาหมึกและปลา ในปี 2558 เป็นปีที่วัตถุดิบหมึกและปลา มีการแข่งขันในด้านการซื้อสูงมาก เพราะต้องเผชิญทั้งปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ทำให้เรือประมงไม่สามารถออกจับสัตว์น้ำได้ แต่ต้องซื้อวัตถุดิบหมึกและปลาจากเรือที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งมีอยู่ประมาณ 60% ของเรือประมงในประเทศเท่านั้น หรือปัญหาด้านสภาวะโลกร้อน ล้วนส่งผลต่อปริมาณของวัตถุดิบที่ไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบหมึกและปลามีราคาสูงมาก
แหล่งที่มาของวัตถุดิบ ได้แก่
1. จากผู้ส่งสินค้า นายหน้า แพปลาต่าง ๆ ซึ่งนำสินค้ามาส่งที่โรงงานโดยตรงซึ่งกระจายอยู่เกือบทุก
จังหวัดที่ติดชายทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน
2. ซื้อผ่านทางผู้ขายที่มีเรือประมงทำการจับ ณ ท่าเรือมหาชัย
ผู้จำหน่ายวัตถุดิบปลาหมึกให้แก่บริษัทมีอยู่ประมาณ 15 - 20 ราย และไม่มีการพึ่งพาผู้จำหน่ายวัตถุดิบปลาหมึก รายใดเกินกว่าร้อยละ 30 ของยอดซื้อวัตถุดิบปลาหมึก
ในปี 2557 เกิดภาวะโรคกุ้งตายด่วน ทำให้ปริมาณวัตถุดิบกุ้งลดลงมาก และราคาซื้อวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ทำให้บริษัทฯต้องหยุดหรือชะลอการผลิตสินค้าที่ใช้วัตถุดิบกุ้ง ซึ่งส่งผลให้ผลกำไรจากการดำเนินงานลดลงจากปีก่อน บริษัทฯได้ดำเนินการบริหารจัดการเรื่องต้นทุนการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับราคาขายสินค้า
ในปี 2558 สหภาพยุโรปได้ตัดสิทธิ GSP กับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 รวมถึงการให้ใบเหลืองในปัญหาเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ทำให้เรือประมงออกจับสัตว์น้ำได้ยาก ทั้งราคาและปริมาณวัตถุดิบผันผวน และการที่สหรัฐอเมริกายังคงอันดับการค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้อยู่ในระดับ Tier3 สถานการณ์เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการดำเนินงานทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามบริษัทฯ และบริษัทย่อยฯได้มีการปรับแผนการดำเนินงานทั้งในด้านการผลิต ด้านการบริหารต้นทุนของสินค้า และรวมถึงกลยุทธ์ในด้านการขาย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และดำเนินการบริหารธุรกิจด้วยความระมัดระวัง
ส่วน CMC เป็นผู้ผลิตและส่งออกทูน่าบรรจุกระป๋องทีมียอดส่งออกมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ กว่า 3 ทศวรรษที่บริษัทมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้า ทำให้บริษัทได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ารายใหญ่ๆ เจ้าของแบรนด์ระดับโลกหลายราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคู่ค้ากันมายาวนาน จึงเป็นที่รู้จักกันในวงการอุตสาหกรรมทูน่าแปรรูปในระดับโลก บริษัทมีประสบการณ์ร่วมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้ากว่า 100 แบรนด์ และได้ส่งสินค้าออกไปจำหน่ายกว่า 50 ประเทศ ในตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกาเหนือ เอเชียตะวันออก ยุโรป และอเมริกาใต้
download PDF ย้อนกลับ