อุตสาหกรรมอาหารนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ   เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญ    สามารถสร้างรายได้มูลค่ามหาศาลให้กับประเทศไทยในแต่ละปี   อย่างไรก็ตาม  ในปัจจุบันการค้าโลกนับวันจะมีการเปิดเสรีมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารของไทยไปยังตลาดโลกประสบกับอุปสรรคต่างๆ   เช่น   การแข่งขันสูงในตลาดส่งออก   นอกจากนี้การที่ผู้บริโภคในประเทศคู่ค้าสำคัญได้ให้ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  จึงหันมาบริโภคสินค้าที่มาจากกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย   และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทำให้ประเด็นการปล่อยก๊าชเรือนกระจกถูกหยิบยกเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดภาวะโลกร้อนจากภาคการผลิต และคาดว่าจะเป็นผลกระทบที่ทำให้เกิดข้อกีดกันทางการค้าในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้

 

          จากอุปสรรคทางการค้าในตลาดโลกดังกล่าว  จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารของไทย จะต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจและรองรับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น  ซึ่งแนวทางหนึ่งที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยได้  คือ  การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต   โดยลดต้นทุนการผลิต  เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ในตลาดที่เปิดเสรีมากขึ้น  อย่างไรก็ตาม  การลดเพียงต้นทุนการผลิตอาจไม่เพียงพอต่อการยอมรับในผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตได้   ยังจำเป็นที่จะต้องปรับกระบวนการผลิตอาหารให้ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก   เพื่อให้ผู้บริโภคในประเทศคู่ค้ายอมรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มาจากประเทศไทย   ผ่านกระบวนการผลิตที่ใส่ใจต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมหรือต่อปัญหาโลกร้อน

 

          สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร จึงจัดทำโครงการยกระดับการแข่งขันอุตสาหกรรมอาหารไทยด้วยการลดต้นทุนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  (Good  Practices  on  Productivity  and Continuous  Improving  to  Carbon  Label) ขึ้น  โดยได้ดำเนินการยกระดับโรงงานในอุตสาหกรรมอาหาร  ตามแนวทางการประเมินรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint)  โดยโครงการนี้จะให้คำปรึกษาแนะนำเชิงเทคนิค  รวมถึงการยกระดับองค์ความรู้ของบุคลากรในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทย  สามารถลดปริมาณของเสียจากการผลิต ลดต้นทุนการผลิตตลอดจนลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร  ทั้งนี้  นอกจากจะเป็นการเพิ่มผลิตภาพด้านการผลิต  พัฒนา  และยกระดับมาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารของประเทศ   และลดข้อกีดกันทางการค้าแล้ว   ยังจะทำให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยสามารถเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจและข้อกีดกันทางการค้าจากตลาดโลก เพื่อแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของประเทศไทย  ในการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม  และลดภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม