สวัสดี

Technology & Innovation

กะทิอบควันเทียน พร้อมหอม พร้อมกิน

พฤษภาคม 2558

รายละเอียด :

หัวใจสำคัญของขนมไทยมีอยู่ด้วยกัน 3 ห้อง โดยห้องแรกเป็นหัวใจของรสชาติความอร่อย ซึ่งมีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์อันเกิดจากกรรมวิธีการผลิตสุดพิถีพิถัน ห้องต่อไปคือหัวใจของรูปลักษณ์ สามารถสะท้อนถึงศิลปะและศาสตร์แขนงต่างๆ ของชาติได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งลวดลาย รูปทรงตลอดจนสีสันอันสะดุดตา และสุดท้ายคือห้องของกลิ่นหอม อันเกิดจากทักษะและภูมิปัญญาของบรรพ-ชนรุ่นหลังที่คิดค้นและผสมผสานศาสตร์หลายๆ ด้านเข้าด้วยกันอย่างแยบยล


“กะทิกล่องอบควันเทียน”
หัวใจสำคัญของขนมไทยมีอยู่ด้วยกัน 3 ห้อง โดยห้องแรกเป็นหัวใจของรสชาติความอร่อย ซึ่งมีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์อันเกิดจากกรรมวิธีการผลิตสุดพิถีพิถัน ห้องต่อไปคือหัวใจของรูปลักษณ์ สามารถสะท้อนถึงศิลปะและศาสตร์แขนงต่างๆ ของชาติได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งลวดลาย รูปทรงตลอดจนสีสันอันสะดุดตา และสุดท้ายคือห้องของกลิ่นหอม อันเกิดจากทักษะและภูมิปัญญาของบรรพ-ชนรุ่นหลังที่คิดค้นและผสมผสานศาสตร์หลายๆ ด้านเข้าด้วยกันอย่างแยบยล
“เทียนอบ” คือหนึ่งในภูมิปัญญาอันก่อเกิดเป็นอัตลักษณ์แห่งขนมไทยมาอย่างช้านาน เป็นกลิ่นผสมอาหาร (flavor) ที่มาจากธรรมชาติ 100% ด้วยเครื่องหอมและสมุนไพรตำหรับโบราณซึ่งหายากขึ้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป กลิ่นควันเทียนเป็นเอกลักษณ์ของขนมไทยเช่นเดียวกับกะทิซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในขนมไทยแทบทุกชนิด อาทิเช่น บัวลอย กล้วยบวชชี สลิ่ม ลอดช่อง ตะโก้ แกงบวดฟักทอง ฯลฯ ดังนั้นแล้ว “กะทิอบควันเทียน” สะท้อนความเป็นไทยได้อย่างดียิ่ง
กะทิอบควันเทียนตราชาวเกาะ ผลิตจากมะพร้าวที่คัดสรรจากแหล่งเพาะปลูกที่มีคุณภาพของประเทศไทย ผ่านกระบวนการผลิตที่ทันสมัย ทำให้รักษาความสดเหมือนกะทิคั้นใหม่ พร้อมด้วยกลิ่นหอมจากเครื่องหอมและดอกไม้ในตำนานแห่งความอร่อย บรรจุอยู่ในกล่องยูเอชที สะดวกพร้อมใช้ เหมาะกับตำหรับขนมไทยที่ต้องใช้กะทิทุกชนิด เพียงแต่เปิดกล่องก็สามารถสร้างสรรค์รายการขนมไทยชั้นเลิศได้ง่ายดาย คงไว้ซึ่งเสน่ห์ของขนมไทยอันน่าภาคภูมิใจยิ่ง
เปิดแนวคิดสร้างสรรค์
อาจเป็นเพราะว่าประเทศไทยคือผู้นำการผลิตมะพร้าวระดับต้นๆ ของโลก เอกลักษณ์ของอาหารและขนมไทยจึงมีรสชาติความเข้มข้น หอม หวาน และมัน จากส่วนผสมสำคัญอย่างกะทิ ซึ่งอยู่คู่ครัวคนไทยมาตั้งแต่สมัยเก่า ก่อนพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ขึ้นไปไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น ยาวนานจนถึงปัจจุบันซึ่งเราก็ยังนิยมกินแกงมัสมั่นไก่ แกงเขียวหวาน ต้มข่าไก่ บัวลอยไข่หวาน สลิ่ม น้ำกะทิแตงไทย หรือน้ำกะทิลอดช่องกันไม่เปลี่ยนแปลง แต่ที่เปลี่ยนแปลงคงเป็นเรื่องของเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งทันสมัยและช่วยอำนวยความสะดวกให้แม่บ้านและธุรกิจอาหารมากยิ่งขึ้น อย่างน้อยเวลานึกอยากกินบัวลอยไข่หวานก็ไม่ต้องวิ่งเข้าสวนไปเก็บมะพร้าวแล้ว เปลี่ยนเป็นเดินไปร้านสะดวกซื้อข้างบ้านสบายกว่ามาก
กะทิชาวเกาะเราได้ยินกันบ่อยๆ ถือเป็นเจ้าแรกๆ ที่ทำให้คนไทยรู้จักกะทิในกล่องยูเอชที (เดิมทีเคยเห็นแต่นมกับน้ำผลไม้ที่จะอยู่ในกล่องยูเอชที) สิ่งสร้างสรรค์ที่ล้ำไปกว่าการผลิตกะทิกล่องของชาวเกาะก็คือ กะทิอบควันเทียน วัตถุประสงค์ชัดเจนว่าเหมาะสำหรับนำไปทำขนมไทย 


“เทียนอบ” อยู่คู่กับน้ำขนมไทยเฉกเช่นเดียวกับกะทิ เป็นเอกลักษณ์ไทยแท้ ยากที่จะลอกเลียนแบบได้ การทำเทียนอบถือเป็นงานฝีมือชั้นยอดไม่แพ้งานศิลปะแขนงอื่นๆ โดยต้องใช้ความละเอียดอ่อน พิถีพิถันในขั้นตอนการทำอย่างมาก และยังสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาของคนไทยสมัยก่อน สมัยที่ไม่มีตำราอาหารขาย ไม่มีโรงเรียนสอนทำอาหาร หรือแม้แต่อินเตอร์เน็ตไว้ดูคลิปสาธิตการทำอาหารของเชฟชื่อดังเหมือนในสมัยนี้ หากทว่าบรรพบุรุษของเรายังสามารถคิดค้นสูตรและวิธีการนำสมุนไพรและเครื่องหอมหลากชนิดมารวมกันอยู่ในเทียนหน้าตาประหลาดเพียงเล่มเดียวได้อย่างน่าทึ่ง
ผลิตภัณฑ์กะทิอบควันเทียนตราชาวเกาะ สืบสานภูมิปัญญาของคนไทยส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งนอกจากจะสร้างเอกลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์กะทิกล่องของชาวเกาะแล้ว ยังเป็นการยกระดับเอกลักษณ์อาหารไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลกอีกด้วย 


เปิดมุมมองไทย
อาหารประเภท “ขนมหวาน” อาจจะไม่ใช่สมาชิกในกลุ่มอาหารจำเป็นและมีประโยชน์ในแง่โภชนาการต่อร่างกาย แต่ขนมเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของกลุ่มอาหาร

 

จำเป็นและมีประโยชน์ในแง่ของการสร้างสุขในจิตใจ ด้วยความหอม หวาน และมันของขนมเหมือนจะไปกระตุ้นการหลั่งสารความสุขในร่างกาย เพราะในทุกครั้งที่ได้ลิ้มรสเราจะมีความสุขมากจนลืมคิดถึงเรื่องน้ำหนักตัวไปเลยทีเดียว


จะว่าไปคนไทยมีนิสัยคล้ายคลึงกับลักษณะของขนมไทย อย่างเช่น คนไทยรักความสนุกสนานเหมือนขนมบัวลอยไข่หวาน คนไทยชอบศิลปะเหมือนขนมลูกชุบ คนไทยชอบความเรียบง่ายเหมือนขนมกล้วย และคนไทยเป็นคนอ่อนน้อมแต่ก็กล้าหาญเหมือนขนมสอดไส้ 

แม้ปัจจุบันขนมไทยถูกมองว่าเชย กินแล้วไม่เท่ ถือแล้วไม่เริ่ดเหมือนโดนัทจากต่างประเทศ หรือร้านขนมในห้างดัง แต่ถามว่าขนมไทยจะหายไปจากชีวิตของคนไทยหรือไม่? ก็คงไม่เลวร้ายขนาดนั้น แต่ทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ถือข้าวต้มมัดแทนโดนัท กินขนมขี้หนูแล้วไม่โดนเพื่อนล้อ หรือเปลี่ยนร้านบัวลอยไข่หวานเป็นจุดพบปะสังสรรค์ของวัยรุ่น ปัญหาอาจจะอยู่ที่ตัวขนมไทยเพียงเล็กน้อย นั่นคือเรื่องอายุการเก็บรักษา เนื่องจากใช้วัตถุดิบจำพวกข้าว แป้ง น้ำตาล ตลอดจนกะทิซึ่งเน่าเสียได้ง่าย ขนมไทยจึงต้องทำสด กินสด ถือเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง แต่ปัญหาที่สำคัญคือค่านิยมสมัยใหม่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด หากทว่าการสร้างค่านิยมการกินขนมไทยก็สามารถทำได้ไม่ยาก ยิ่งในยุคการสื่อสารไร้พรมแดนของวันนี้ 

 

 

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527