สวัสดี

Hot issue

ภัยแล้ง โลกร้อน กระทบความมั่นคงอาหารโลก

กรกฎาคม 2566

รายละเอียด :

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (el niño) ประเทศในเขตหนาวหลายประเทศทั้งในยุโรป หลายรัฐในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หลายมณฑลของจีน กำลังเผชิญกับสภาพอากาศร้อนอย่างรุนแรง ปริมาณน้ำฝนที่มีแนวโน้มต่ำกว่าปกติกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรอาหารในแหล่งผลิตสำคัญทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย จีน รวมถึงประเทศในกลุ่มผู้บริโภคสำคัญอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวจะกระทบต่อความมั่นคงอาหารโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภัยแล้งในพื้นที่เพาะปลูกตอนกลางและทางเหนือของประเทศ ทำให้จีนระงับการส่งออกแป้งข้าวโพดมาตั้งแต่ปีก่อน และคาดว่าจะคงมาตรการดังกล่าวอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2566 เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองอาหารของประเทศหลังจากสต็อกแป้งข้าวโพดอ่อนตัวลงในช่วงก่อนหน้าตามผลผลิตที่ลดลงในช่วงปี 2564 โดยในปี 2566 จีนน่าจะนำเข้าข้าวโพดอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านตัน สูงกว่าประมาณการในช่วงต้นปี เนื่องจากจีนยังคงต้องการผลผลิตข้าวโพดเพื่อป้อนให้กับโรงงานแปรรูปมากขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองอาหาร ปัจจุบันกำลังการผลิตโรงงานแปรรูปข้าวโพดของจีนอยู่ที่ 20 ล้านตัน แต่การผลิตจริงยังคงเพิ่มขึ้นไม่มากเพราะขาดแคลนวัตถุดิบ ความต้องการนำเข้าข้าวโพดและพืชอาหารอื่นๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นของจีน มีส่วนผลักดันราคาอาหารโลกให้เพิ่มสูงขึ้น

 

ปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกพืชผลของอินเดียอย่างมาก ทางการอินเดียจึงได้ประกาศระงับการส่งออกข้าวทุกสายพันธุ์ที่ไม่ใช่พันธุ์บาสมาติ (basmati) เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากเรียกเก็บภาษีส่งออกข้าวมาแล้วก่อนหน้า ทำให้โลกกังวลว่าอาจนำไปสู่ปัญหาราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอินเดียครองสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของตลาดส่งออกข้าวทั่วโลก อุปทานข้าวทั่วโลกที่ชะลอตัวลง จะส่งผลให้ราคาข้าวสูงขึ้น กระทบกับประเทศผู้บริโภคข้าวที่สําคัญของโลก โดยเฉพาะกลุ่มประชากรคนยากจนและกลุ่มเปราะบางในเอเชียและแอฟริกา ซ้ำเติมกับปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่กำลังเผชิญอยู่

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527