สวัสดี

Quarterly Situation

อุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2558 และแนวโน้มปี 2559

กุมภาพันธ์ 2559

รายละเอียด :

ภาพรวมการค้าอาหารไทยปี 2558 (ไม่รวมอาหารสัตว์)

ในปี 2558 การส่งออกอาหารไทยมีมูลค่า 897,529 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 1.9 ส่วนการนำเข้า
มีมูลค่า 356,743 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 เมื่อเทียบกับปี 2557 ทำให้ไทยเกินดุลการค้าอาหารมูลค่า 540,786 ล้านบาท ซึ่งการนำเข้าที่ขยายตัวสูงส่งผลทำให้มูลค่าเกินดุลการค้าอาหารของไทยในปี 2558 มีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับปี 2557 การส่งออกสินค้าอาหารไทยมีมูลค่าลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้ความต้องการสินค้าลดลง รวมถึงปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งผลทำให้รายได้จากการส่งออกสินค้าอาหารของไทยหลายรายการลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้  หลายอุตสาหกรรมยังประสบปัญหาภัยแล้งทำให้ปริมาณวัตถุดิบทางการเกษตรลดลง โดยเฉพาะกลุ่มพืชผักผลไม้ เช่น สับปะรด ผลไม้เมืองร้อนอื่น ๆ

 

ภาพที่ 1 ภาพรวมการค้าอาหารไทยปี 2556-2558
ที่มา: ฝ่ายวิจัยและข้อมูล สถาบันอาหาร

สินค้าอาหารส่งออกของไทยปี 2558

ในจำนวนสินค้าหลัก 8 รายการ ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย ไก่ กุ้ง ปลาทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง และเครื่องปรุงรส พบว่า
•    สินค้าส่งออกที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น มี 3 กลุ่ม คือ น้ำตาลทราย ไก่ และเครื่องปรุงรส
•    สินค้าส่งออกที่มีปริมาณขยายตัวเพิ่มขึ้นแต่มูลค่าลดลง คือ กุ้ง สาเหตุเพราะราคากุ้งตกต่ำ
•    สินค้าที่มีปริมาณส่งออกลดลงแต่มูลค่าเพิ่มขึ้น คือ สับปะรดกระป๋อง และแป้งมันสำปะหลัง
•    สินค้าส่งออกที่มีปริมาณและมูลค่าหดตัวลดลง คือ ข้าว และปลาทูน่ากระป๋อง

ตารางที่ 1 สินค้าอาหารส่งออกในปี 2558

ที่มา: ฝ่ายวิจัยและข้อมูล สถาบันอาหาร

 

ตลาดส่งออกสินค้าอาหารของไทยปี 2558

•    ตลาดอาหารของไทยร้อยละ 59.8 อยู่ในเอเชีย รองลงมาได้แก่ กลุ่มประเทศในอเมริกาเหนือ (13.2%), ยุโรป (11.7%) และแอฟริกา (10.2%) ส่วนตลาดในโอเชียเนีย และอเมริกาใต้มีสัดส่วนส่งออกค่อนข้างน้อย
•    ตลาดในเอเชียที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น (14.0%) ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในปัจจุบัน รองลงมา ได้แก่ กลุ่มประเทศ CLMV (13.7%), อาเซียนเดิม (11.6%), จีน (8.6%), ตะวันออกกลาง (4.0%) เป็นต้น ส่วนตลาดอินเดียมีสัดส่วนส่งออกน้อย
•    ตลาดอาหารในกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือส่วนใหญ่ คือ สหรัฐฯ (11.3%) และแคนาดา (1.9%)

ภาพที่ 2 ตลาดส่งออกสินค้าอาหารของไทย ปี 2558
ที่มา: ฝ่ายวิจัยและข้อมูล สถาบันอาหาร

แนวโน้มส่งออกอาหารไทยปี 2559

การส่งออกสินค้าอาหารไทยปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่า 950,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแผนงานและโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ เงินบาทอ่อนค่าเทียบกับเงินสกุลหลัก ต้นทุนการผลิตและขนส่งลดลงตามราคาน้ำมันและวัตถุดิบนำเข้า เศรษฐกิจที่ขยายตัวจากการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV ส่งผลทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าที่มีรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมันรวมทั้งสินค้าเกษตร ภัยแล้งทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลงกระทบต่อปริมาณวัตถุดิบของอุตสาหกรรมแปรรูป รายได้เกษตรลดลงจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำรวมทั้งภัยแล้ง รวมทั้งปัญหาแรงงานและการทำประมงผิดกฎหมาย

ภาพที่ 3 แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2559
ที่มา: ฝ่ายวิจัยและข้อมูล สถาบันอาหาร

 

แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2559 (สินค้าหลัก)

กลุ่มสินค้าที่คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (ปริมาณส่งออก)

•    ไก่ ราคาวัตถุดิบอ่อนตัวตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิต รวมถึงประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะญี่ปุ่นมีความต้องการไก่จากไทยต่อเนื่องเพราะยังไม่มั่นใจไก่จากจีน
•    ปลาทูน่ากระป๋อง การส่งออกอาจเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในตลาดรองแถบแอฟริกาเหนือ ส่วนตลาดหลักในสหรัฐฯ และยุโรป การบริโภคยังชะลอตัว ขณะที่ปริมาณวัตถุดิบปลาที่จับก็ขยายตัวไม่มากเนื่องจากราคายังไม่จูงใจ รวมทั้งหลายชาติเริ่มออกมาตรการเข้มงวดในการทำประมง
•    กุ้ง ผลผลิตกุ้งไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ประเทศคู่แข่งหลายประเทศ เช่น เวียดนาม อินเดีย กำลังประสบปัญหาโรคระบาด จึงเป็นโอกาสของไทยในการดึงส่วนแบ่งตลาดที่เสียไปกลับคืนมา แต่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณวัตถุดิบกุ้งว่าจะสามารถเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด โดยในเบื้องต้นคาดว่าผลผลิตกุ้งไทยจะอยู่ที่ 3 แสนตัน คิดเป็นปริมาณเพียงครึ่งเดียวของระดับผลผลิตกุ้งที่ไทยเคยผลิตได้
•    เครื่องปรุงรส สินค้าคุณภาพดีและมีเอกลักษณ์ รวมทั้งเป็นสินค้าที่มีภูมิคุ้มกันที่ดีเพราะมีตลาดกระจายอยู่ทั่วโลกโดยไม่ได้พึ่งพิงตลาดหนึ่งตลาดใดในสัดส่วนที่มากเกินไป
•    สับปะรดกระป๋อง ปริมาณวัตถุดิบสับปะรดโรงงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากแรงจูงใจด้านราคา โดยในปี 2558 สับปะรดโรงงานมีราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 10.30 บาทต่อกิโลกรัม สูงเป็นประวัติการณ์จากราคาเฉลี่ยในช่วง 20 ปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 3-4 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งปริมาณวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้การส่งออกขยายตัว

    ตารางที่ 2 คาดการณ์แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2559

ที่มา: ฝ่ายวิจัยและข้อมูล สถาบันอาหาร

กลุ่มสินค้าที่คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มลดลง

•    ข้าว ภัยแล้งทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังของไทยลดลง ทำให้ผู้ส่งออกขาดแคลนข้าวใหม่ในการส่งออก ในขณะที่ฝั่งผู้ซื้อซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาในแถบแอฟริกาก็ยังประสบภาวะเศรษฐกิจทำให้กำลังซื้อชะลอตัว ประกอบกับตลาดข้าวอันดับหนึ่งของไทยคือไนจีเรียตั้งกำแพงภาษีนำเข้าข้าวสูงถึงร้อยละ 60 รวมทั้งมีมาตรการเข้มงวดในการนำเงินดอลลาร์ออกนอกประเทศ ทำให้ผู้ซื้อขาดแคลนเงินดอลลาร์ในการชำระค่าข้าว ตลาดข้าวในแอฟริกาโดยเฉพาะไนจีเรียจึงชะลอตัวต่อไป
•    น้ำตาลทราย ภัยแล้งทำให้พื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อยลดลง รวมทั้งภัยแล้งยังทำให้ระดับความหวานของอ้อยมีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะมีผลต่อปริมาณและคุณภาพน้ำตาลที่จะผลิตได้ 
•    แป้งมันสำปะหลัง ประสบปัญหาวัตถุดิบมีไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงงาน ทำให้ในช่วงที่ผ่านมีการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านมาแปรรูปมากขึ้นโดยเฉพาะจากประเทศกัมพูชา

 

 

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527