สวัสดี

Quarterly Situation

อุตสาหกรรมอาหารไทย 9 เดือนแรกปี 2558 และแนวโน้มปี 2559

พฤศจิกายน 2558

รายละเอียด :

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การค้าอาหารไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งการส่งออกและนำเข้า ยกเว้นในช่วงปี 2555-2556 ที่การส่งออกลดลงเพราะสินค้าหลักประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต เช่น กุ้ง สับปะรด อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเกินดุลการค้าอาหารมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันไทยเกินดุลการค้าอาหารราว 6 แสนล้านบาท 

 

สำหรับสถานการณ์การค้าอาหารของไทยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2558 และแนวโน้มปี 2559 พอสรุปได้ดังนี้

การค้าอาหารของไทยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2558

ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2558 การส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีมูลค่า 661,833 ล้านบาท 
หดตัวลงร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้ความต้องการสินค้าลดลง รวมถึงปัญหาราคาสินค้าตกต่ำส่งผลทำให้รายได้จากการส่งออกสินค้าอาหารของไทยหลายรายการลดลงตามไปด้วย

ในด้านการนำเข้ามีมูลค่า 256,912 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 ตามความต้องการวัตถุดิบในหมวดอาหารทะเลที่เพิ่มขึ้นหลังจากวัตถุดิบในประเทศขาดแคลน นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองและข้าวสาลีเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเพิ่มสูงขึ้นด้วย ส่งผลทำให้ดุลการค้าอาหารของไทยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2558 ลดลงมาอยู่ที่ 404,921 ล้านบาท จาก 448,822 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ตลาดส่งออกอาหารของไทยร้อยละ 60 อยู่ในทวีปเอเชีย รองลงมา ได้แก่ อเมริกาเหนือ ยุโรป และแอฟริกา ตามลำดับ โดยในช่วง 9 เดือนแรก การส่งออกไปยังตลาดเอเชียและอเมริกาเหนือขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดอื่นๆ ได้แก่ ยุโรป แอฟริกา โอเชียเนีย และลาตินอเมริกา หดตัวลงทั้งหมด โดยหมวดอาหารทะเลลดลงจากการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและกุ้งเป็นหลัก หมวดธัญพืชลดลงจากการส่งออกข้าว ส่วนหมวดเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์นมขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดหลักในกลุ่มประเทศ CLMV

ขณะที่การส่งออกรายสินค้าพบว่า ข้าว ปลาทูน่ากระป๋อง และกุ้ง มีมูลค่าส่งออกลดลงจากราคาสินค้าตกต่ำ ส่วนการส่งออกน้ำผักผลไม้ขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV ที่สินค้าไทยได้รับความนิยมเนื่องจากเป็นสินค้าคุณภาพดีในมุมมองของผู้บริโภค 

แนวโน้มส่งออกอาหารไทยปี 2559
ในปี 2559 คาดว่าการส่งออกสินค้าอาหารจะมีมูลค่า 950,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 จากปี 2558 ที่คาดว่าการส่งออกจะมีมูลค่า 900,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.7 ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เงินบาทอ่อนค่าเทียบกับเงินสกุลหลัก ต้นทุนการผลิตลดลงตามราคาน้ำมัน รวมถึงเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ CLMV ที่ขยายตัวส่งผลทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ปัจจัยเสี่ยง อาทิ ภัยแล้งทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง รายได้เกษตรลดลงกระทบต่อกำลังซื้อ รวมทั้งปัญหาในอุตสาหกรรมประมงไทย

หมวดสินค้าที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2559 ได้แก่ น้ำตาล เนื้อสัตว์ เครื่องปรุงรส และผลิตภัณฑ์นม ขณะที่การส่งออกสินค้าในหมวดอาหารทะเลและหมวดข้าวและธัญพืชคาดว่าน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2558 โดยมีการส่งออกสินค้าในหมวดผักผลไม้เท่านั้นที่คาดว่าการส่งออกจะหดตัวลงเนื่องจากภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณวัตถุดิบ

ปัจจัยสนับสนุน/ปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกอาหารไทยปี 2559
ปัจจัยสนับสนุน

•    แผนงานและโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของภาครัฐ
•    เงินบาทอ่อนค่าเทียบกับเงินสกุลหลัก
•    ต้นทุนการผลิตและขนส่งลดลงตามราคาน้ำมันและวัตถุดิบนำเข้า
•    เศรษฐกิจที่ขยายตัวจากการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV ส่งผลทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น

ปัจจัยเสี่ยง
•    ภัยแล้งทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลงกระทบต่ออุตสาหกรรมแปรรูป
•    รายได้เกษตรลดลงจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำรวมทั้งภัยแล้ง
•    การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมัน
•    ปัญหาในอุตสาหกรรมประมงไทยจากกรณีที่ถูกสหรัฐฯกล่าวหาว่าใช้แรงงานผิดกฎหมายและปรับไทยให้ไปอยู่ใน Tier 3 รวมทั้งผลจากการที่อียูจะมีการประเมินความก้าวหน้าของไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายหลังจากปัจจุบันไทยถูกอียูให้ใบเหลืองเพื่อเป็นการตักเตือน

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527