สวัสดี

Monthly Situation

สรุปภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทย เดือนกุมภาพันธ์ และแนวโน้มการส่งออกและสัญญาณเตือนภัย เดือนมีนาคม 2567

มีนาคม 2567

รายละเอียด :

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยเดือนมกราคม 2567 หดตัวร้อยละ 1.2 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 59.6 ต่ำกว่าร้อยละ 60.3 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน การหดตัวของภาคการผลิตมีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของปริมาณวัตถุดิบการเกษตรในหลายกลุ่มสินค้า เช่น กุ้ง สับปะรด โดยกุ้งเผชิญกับโรคระบาด ต้นทุนการผลิตสูง ราคาขายไม่จูงใจ ส่วนสับปะรดลดลงจากภัยแล้งรวมถึงเผชิญการแข่งขันสูงในตลาดต่างประเทศ ส่วนความต้องการสินค้าอาหารในภาคส่งออกก็ยังมีเข้ามาต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศที่กังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหารทั้งจากปัญหาภัยแล้ง ความไม่สงบและภาวะสงคราม ทำให้มีการสต็อกสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตหดตัวลง ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง (-20.0%) ทูน่ากระป๋อง (-13.2%) และเนื้อไก่ปรุงสุก (-3.5%) ส่วนกลุ่มสินค้าที่มีการผลิตขยายตัว ได้แก่ กะทิ (+22.4%) น้ำตาลทรายขาว (+15.3%) และน้ำมันพืช (ยกเว้นน้ำมันปาล์ม) (+11.8%)

การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจรวมทั้งราคาอาหารที่ยังคงปรับตัวลดลงไม่มากนัก โดยดัชนีราคาอาหารเดือนมกราคม 2567 แม้จะหดตัวลงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบจากเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่สินค้าพื้นฐานในหลายกลุ่มยังคงมีราคาปรับตัวสูงขึ้นและกดดันการบริโภค ได้แก่ กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 กลุ่มข้าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 และกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 โดยราคาที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุจากความต้องการในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ส่วนกลุ่มสินค้าอาหารที่มีราคาลดลงและส่งผลดีต่อผู้บริโภค ได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ หดตัวร้อยละ 6.6 กลุ่มผักและผลไม้ หดตัวลงร้อยละ 4.4

 

การส่งออกสินค้าอาหารไทยเดือนมกราคม 2567 มีมูลค่า 115,357 บาท ขยายตัวร้อยละ 14.4 (%YoY) ตามความต้องการสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศที่กังวลเรื่องความมั่นคงอาหาร โดยเฉพาะอาเซียนและตะวันออกกลาง เช่นเดียวกับตลาดจีนที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นตามภาคการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวตามนโยบายการพึ่งพิงตลาดภายในประเทศมากขึ้นของทางการจีน ประกอบกับเทศกาลตรุษจีนที่มาเร็วกว่าปีก่อน รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบในกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปและอาหารสัตว์เลี้ยงที่อ่อนตัวลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังของปีก่อนหน้า ส่งผลทําให้ปริมาณคําสั่งซื้อของลูกค้ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

 

การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากภาคการผลิตเพื่อจําหน่ายในประเทศและอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นการส่งออก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจในประเทศกําลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งตามภาคบริการและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อเริ่มคลายตัวลงหลังทางการประเทศต่างๆ ใช้นโยบายการเงินเข้มงวดในช่วงก่อนหน้า รวมถึงสินค้าอาหารไทยได้รับประโยชน์จากการที่ประเทศคู่ค้ากังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เช่นเดียวกับปรากฏการณ์เอลนีโญทําให้ผลผลิตการเกษตรลดลง ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527