สวัสดี

Monthly Situation

สรุปภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทย เดือนธันวาคม 2566 และแนวโน้มการส่งออกและสัญญาณเตือนภัย เดือนมกราคม 2567

กุมภาพันธ์ 2567

รายละเอียด :

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยเดือนธันวาคม 2566 หดตัวร้อยละ 5.3 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 52.9 ต่ำกว่าร้อยละ 55.8 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน การหดตัวของภาคการผลิตมีสาเหตุสำคัญจากความต้องการสินค้าที่ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักที่ยังคงเผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อ และการลดลงของปริมาณวัตถุดิบการเกษตรจากปรากฎการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดภาวะภัยแล้ง ปริมาณน้ำฝนที่น้อยในช่วงฤดูฝนกระทบต่อการผลิต โดยกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตหดตัว ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง (-32.7%), ทูน่ากระป๋อง (-21.7%), เนื้อไก่สุกปรุงรส (-12.6%), น้ำตาลทรายขาว (-8.2%), กุ้งแช่แข็ง (-6.3 %), ซาร์ดีนกระป๋อง (-2.7%) และกะทิ (-0.3%) ขณะที่กลุ่มสินค้าอาหารที่การผลิตมีการขยายตัว ได้แก่ น้ำมันพืช (ยกเว้นน้ำมันปาล์ม) (+19.7%) และผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส (+14.8%) ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มปริมาณสต็อกสินค้ารองรับการจำหน่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนในช่วงต้นปี

การบริโภคในประเทศเดือนธันวาคม 2566 ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามรายได้ภาคเกษตรที่ชะลอตัวเป็นหลัก โดยราคาอาหารในภาพรวมที่หดตัวร้อยละ 0.6
มีส่วนช่วยรักษาระดับกำลังซื้อของผู้บริโภคไม่ให้หดตัวลงมาก โดยกลุ่มสินค้าอาหารที่มีราคาลดลงและส่งผลดีต่อผู้บริโภค ได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ที่หดตัวร้อยละ 6.5 กลุ่มผักและผลไม้ หดตัวร้อยละ 2.8 ส่วนกลุ่มสินค้าอาหารที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มไข่ และผลิตภัณฑ์นม กลุ่มข้าว และกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ร้อยละ 4.8 และร้อยละ 3.2 ตามลำดับ ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มเครื่องปรุงรส เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2  โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นรองรับเทศกาลตรุษจีนที่มาเร็วกว่าปีก่อน

การส่งออกสินค้าอาหารไทยเดือนธันวาคม 2566 มีมูลค่า 110,615 บาท หดตัวร้อยละ 0.7 (%YoY) โดยประเทศคู่ค้ามีความต้องการนําเข้าสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับเทศกาลปีใหม่และตรุษจีนในต้นปีหน้า ขณะที่ปรากฏการณ์เอลนีโญยังคงส่งผลกระทบทําให้เกิดภัยแล้งในหลายประเทศทั่วโลก คู่ค้าจึงเพิ่มการนำเข้าสินค้าเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ในส่วนของประเทศไทย แม้ผลผลิตวัตถุดิบการเกษตรของไทยหลายรายการจะลดลง แต่สินค้าส่งออกไทยได้รับประโยชน์จากความต้องการและราคาตลาดที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยกลุ่มสินค้าอาหารที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว น้ำตาล และเครื่องปรุงรส

การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากภาคการผลิตเพื่อจําหน่ายในประเทศและอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นการส่งออก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจในประเทศกําลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งตามภาคบริการและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อเริ่มคลายตัวลงหลังทางการประเทศต่างๆ ใช้นโยบายการเงินเข้มงวดในช่วงก่อนหน้า สินค้าอาหารไทยได้รับประโยชน์จากการที่ประเทศคู่ค้ากังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เช่นเดียวกับปรากฏการณ์เอลนีโญทําให้ผลผลิตการเกษตรลดลง ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบในกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปและอาหารสัตว์เลี้ยงที่อ่อนตัวลง มาอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง จะส่งผลทําให้ปริมาณคําสั่งซื้อของลูกค้ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527