สวัสดี

Monthly Situation

สรุปภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทย เดือนเมษายน และแนวโน้มการส่งออกและสัญญาณเตือนภัย เดือนพฤษภาคม 2566

พฤษภาคม 2566

รายละเอียด :

การผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยเดือนเมษายน 2566 หดตัวร้อยละ 5.8 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 44.1 หดตัวจากร้อยละ 47.6 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน การหดตัวของภาคการผลิตมีสาเหตุสำคัญจากคำสั่งซื้อสินค้าที่ลดลงจากปัญหาสินค้าคงค้างในสต็อกของผู้นำเข้า/ผู้จำหน่าย การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักหลายประเทศที่ยังคงเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องกระทบกำลังการซื้อของผู้บริโภค แม้ว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มทยอยฟื้นตัวจากการได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากภาคท่องเที่ยวและบริการที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยต่อเนื่อง ประกอบกับการลดลงของปริมาณวัตถุดิบสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อผลผลิตการเกษตร โดยกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตหดตัว ได้แก่ แป้งมันสำปะหลัง (-37.0%) สับปะรดกระป๋อง (-36.7%) กะทิ (-32.1%) ทูน่ากระป๋อง (-21.9%) ซาร์ดีนกระป๋อง (-12.3%) เนื้อไก่สุกปรุงรส (-11.5%) และ กุ้งแช่แข็ง (-0.9%) ขณะที่การผลิตน้ำตาลทรายขาวยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น (+40.1%) จากผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เป็นหลัก

ราคาสินค้าอาหารที่ผู้บริโภคได้รับในเดือนเมษายน 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ  4.5 (%YoY) ตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าสัตว์ปีกจำพวกเป็ด ไก่ ทั้งสดและแปรรูป ราคาไข่ ที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น และสภาพอากาศที่ร้อน ได้ส่งผลทำให้ผลการผลิตออกสู่ตลาดลดลง โดยกลุ่มสินค้าดังกล่าวมีราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นระหว่าง 4-9% นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญอีกกลุ่มที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นกดดันการบริโภคภายในประเทศ คือ ผลไม้สดและผลไม้แปรรูปที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 9.6 และร้อยละ 8.8 ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ส่งผลทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มนี้ปรับตัวสูงขึ้น  เนื่องจากความต้องการผลไม้สดในการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้นมาก หลังจากจีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตราการ Zero-COVID ทำให้ราคาผลไม้ภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อนจำพวกทุเรียน มังคุด ลำไย สถานการณ์ดังกล่าวกดดันการบริโภคภายในประเทศให้มีแนวโน้มชะลอตัว

 

การส่งออกสินค้าอาหารไทยเดือนเมษายน 2566 มีมูลค่า 143,631 บาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 (%YoY) ตามความต้องการสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการการท่องเที่ยวทั่วโลกหลังโควิด-19 คลายตัว และราคาสินค้าอาหารส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่ง ส่งผลต่อมูลค่าส่งออกที่ไทยได้รับเพิ่มสูงขึ้น โดยการส่งออกไปยังจีนมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 64.6 จากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติครั้งแรกในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวในประเทศจีน ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มตามไปด้วย ขณะที่การส่งออกไปประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ยังคงหดตัวลงจากปัญหาเงินเฟ้อที่ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และปัญหาสินค้าที่ยังค้างในสต็อกมาจากช่วงปลายปีก่อน ความต้องการนำเข้าจึงลดลง

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527