สิริวรรณ สุขนิคม
เทคโนโลยี Cold plasma เป็นเทคนิคการแปรรูปอาหารโดยไม่ใช้ความร้อน ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารเริ่มให้ความสนใจเนื่องจากมีงานวิจัยพบว่า เทคโนโลยีนี้สามารถทำลายเชื้อจุลินทรีย์รวมถึงสปอร์ของจุลินทรีย์นั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อะไรคือพลาสมา? โดยทั่วไปสสารจะมีทั้งหมด 3 สถานะ ได้แก่ ของแข็ง ของเหลวและก๊าซ นั่นคือสิ่งที่เรารู้กันมานาน แต่ในความเป็นจริง สสารมีทั้งสิ้น 4 สถานะ ได้แก่ ของแข็ง ของเหลว ก๊าซและพลาสมา พลาสมาจัดได้ว่าเป็นสถานะที่ 4 ของสสาร เนื่องจากมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากสถานะอื่นอย่างชัดเจน พลาสมาประกอบด้วยอนุภาคที่มีประจุทั้งประจุบวกและลบ ในสัดส่วนที่ทำให้ประจุสุทธิเป็นศูนย์ พลาสมาสามารถเกิดได้โดย การให้สนามไฟฟ้าปริมาณมากแก่ก๊าซที่เป็นกลาง เมื่อพลังงานส่งผ่านไปยังอิเล็กตรอนอิสระมากพอ จะทำให้อิเล็กตรอนอิสระชนกับอะตอม และทำให้อิเล็กตรอนหลุดออกจากอะตอม กระบวนการนี้เรียกว่ากระบวนการแตกตัวเป็นไอออน (ionization) ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้จำนวนอิเล็กตรอนที่หลุดออกมานี้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากซึ่งจะทำให้ก๊าซแตกตัวและกลายเป็นพลาสมาในที่สุด โดย cold plasma เกิดจากการให้คลื่นอิเล็คโตรเม็กเนติกความถี่สูง (มากกว่า 100 MHz) แก่ก๊าซภายใต้สภาวะความดันต่ำ
ในอุตสาหกรรมอาหารสามารถนำ cold plasma มาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหลายประเภท โดยนิยมใช้ทำลายจุลินทรีย์ที่พื้นผิว เช่น ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ผิวของเปลือกไข่ นอกจากนั้น นอกจากจะทำลายจุลินทรีย์แล้ว เทคโนโลยีนี้ยังส่งผลต่อคุณสมบัติของอาหารด้วย อาทิเช่น พบว่าการใช้เทคโนโลยี cold plasma กับถั่วดำ นอกจากจะช่วยลดปริมาณจุลินทรีย์แล้วยังพบว่าถั่วดำที่ผ่านการใช้เทคโนโลยีนี้ เมื่อนำมาปรุงให้สุกจะใช้ระยะเวลาสั้นลง รวมทั้งถั่วดำจะมีเนื้อสัมผัสที่นิ่มลง และความสามารถดูดซับน้ำเมื่อนำถั่วดำมาแช่น้ำนาน 4 ชั่วโมง ส่วนในข้าวบาสมาติ (Basmati) พบว่าการใช้เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ความดูดซึมน้ำได้มากขึ้นทำให้อุณหภูมิการเกิดเจลาติไนซ์เซชั่นต่ำลง
นอกจากจะทำให้จุลินทรีย์ลดลง และเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของอาหารแล้วยังพบว่า เทคโนโลยีนี้สามารถทำให้ยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนในอาหารเกิดการแตกตัว เสื่อมสภาพทำให้ลดการเกิดอันตรายจากการปนเปื้อนของสารพิษจากยาฆ่าแมลง
นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยี cold plasma ไปใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นแง่ของความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ และความสามารถป้องกันการปนเปื้อนซ้ำของผลิตภัณฑ์อาหาร
ในอนาคตการนำเทคโนโลยี cold plasma มาใช้จะเริ่มมีความแพร่หลายมากขึ้น โดยเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ เช่น
การใช้เทคโนโลยี cold plasma ในอุตสาหกรรม hydrogenation ของน้ำมัน เพื่อผลิตมาร์การีน เนื่องจากปัจจุบัน กระบวนการ hydrogenated ของน้ำมันจะใช้ความร้อยซึ่งทำให้เกิด trans fat ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงได้มีการศึกษาการใช้เทคโนโลยี cold plasma เพื่อลดการเกิด trans fat ในกระบวนการhydrogenated ของน้ำมัน
การใช้เทคโนโลยี cold plasma เพื่อลดการเกิดภาวการณ์แพ้อาหารบางชนิด ซึ่งมีการศึกษาพบว่า เทคโนโลยีนี้จะทำให้โปรตีนที่ทำให้เกิดการแพ้อาหาร เกิดการเสื่อมสภาพทำให้ไม่เกิดการแพ้อาหาร
การใช้เทคโนโลยี cold plasma เพื่อทำลายสารต้านคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร (Anti-nutrition) ซึ่งเป็นสารที่พบในอาหารตามธรรมชาติอยู่แล้ว โดยพบว่าเทคโนโลยีนี้สามารถทำลายสารต้านคุณค่าทางโภชนาการ เช่น trypsin inhibitor, oxalate
ข้อจำกัดของเทคโนโลยี cold plasma
เนื่องจากเทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่จึงยังมีข้อจำกัดในหลายด้าน ยกตัวอย่างเช่น ยังขาดผู้เชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีนี้ เครื่องมือที่ใช้ผลิต cold plasma มีราคาสูง และส่วนใหญ่การใช้เทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในขั้นของการทดลองยังไม่สามารถขยายไปสู่ภาคอุตสาหกรรม
แล้วเทคโนโลยีนี้มีความปลอดภัยเมื่อใช้ในอาหารหรือไม่
ยังมีข้อถกเถียงถึงความปลอดภัยในเทคโนโลยีนี้ เนื่องจากในบางอุตสาหกรรมเช่น ในอาหารที่มีไขมันสูง การใช้เทคโนโลยี cold plasma จะทำให้เกิดสารในกลุ่ม peroxide ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยา oxidation ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ รวมทั้งในอาหารที่มีสาร antioxidant การใช้เทคโนโลยีนี้อาจทำให้สาร antioxidant เกิดการแตกตัวทำให้เสื่อมสภาพได้ ดังนั้นจึงยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เฉพาะเจาะจงลงไปในอาหารแต่ละชนิดว่ามีความเหมาะสมแค่ไหนในการใช้เทคโนโลยีนี้
เอกสารอ้างอิง
Alkawareek, M. Y., Gorman, S. P., Graham, W. G., & Gilmore, B. F. (2014). Potential cellular targets and antibacterial efficacy of atmospheric pressure non-thermal plasma. International Journal of Antimicrobial Agents, 43(2), 154-160.
Ekezie, F.-G., Sun, D.-W &, Cheng, J.-H. (2017). A review on recent advances in cold plasma technology for the food industry: Current applications and future trends. Trends in Food Science & Technology, 69, 46-58.
Sarangapani, C., Misra, N. N., Milosavljevic, V., Bourke, P., O'Regan, F., & Cullen, P. J. (2016a). Pesticide degradation in water using atmospheric air cold plasma. Journal of Water Process Engineering, 9, 225-232.
Sarangapani, C., Yamuna Devi, R., Thirumdas, R., Trimukhe, A. M., Deshmukh, R. R., & Annapure, U. S. (2017b). Physico-chemical properties of low-pressure plasma treated black gram. LWT-food Science and Technology, 79, 102-110.