ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทศพร นามโฮง
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
บรรจุภัณฑ์ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ถูกใช้เพื่อผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม และมีบางส่วนใช้สำหรับผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย (เช่น แชมพู ครีมนวดผม โลชั่น เป็นต้น) สารเคมี เสื้อผ้า และเครื่องมืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ต้องการบรรจุภัณฑ์เพื่อปกป้องและคุ้มครองให้ผลิตภัณฑ์อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มากที่สุดจนถึงมือผู้รับ ในโลกยุคปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มีมูลค่าการผลิตมหาศาล โดยมีสัดส่วนการใช้ที่แบ่งตามชนิดของบรรจุภัณฑ์ ดังนี้คือ (1) กระดาษและกระดาษแข็งประมาณ 36 เปอร์เซ็นต์ (2) พลาสติกประมาณ 34 เปอร์เซ็นต์ (3) โลหะ (เหล็กหรืออลูมิเนียม) ประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ และ (4) แก้วประมาณ 11 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้บริโภคนิยมใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษและพลาสติกเป็นจำนวนมาก โดยทั่วไปบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะใช้เป็นวัสดุบรรจุอาหารหรือวัสดุที่สัมผัสอาหาร (food contact materials) เป็นหลัก ส่วนบรรจุภัณฑ์กระดาษจะนิยมใช้เพื่อการรวมหน่วยและบรรจุเพื่อการขนส่ง เช่น กล่องกระดาษแข็ง และกล่องกระดาษลูกฟูก เป็นต้น
ปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญกับวิถีการดำเนินชีวิตในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยการเปลี่ยนแปลงนี้มีผลกระทบหลักต่อสินค้าที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และบริโภคอื่นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผลของวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปต่อการบรรจุอาหารในบรรจุภัณฑ์ อาทิเช่น (1) ครอบครัวเดี่ยว (one-parent families) มีปริมาณมากขึ้น เนื่องจากอัตราการเกิดลดลงและคนมีอายุยืนขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีปริมาณครอบครัวที่มีจำนวนสมาชิก 1-2 คนปริมาณมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน เมื่อเทียบกับในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหมายถึงความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดบรรจุเล็กมากกว่าบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดบรรจุใหญ่ (2) สมาชิกในครัวเรือนส่วนใหญ่ทำงานนอกบ้านเต็มเวลา ซึ่งส่งผลให้การรับประทานอาหารพร้อมกันน้อยลง รับประทานอาหารคนละช่วงเวลา และปริมาณการเตรียมอาหารในแต่ละครั้งลดลง สาเหตุเหล่านี้นำไปสู่ความต้องการการบริโภคอาหารเพื่อความสะดวกมากขึ้น เช่น อาหารพร้อมรับประทาน (ready-to-eat) ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารที่ตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี (3) การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เช่น ตู้เย็นและตู่แช่ที่สามารถเก็บรักษาของสดที่มีการควบคุมสภาวะให้สามารถยืดอายุของสดได้ เช่น ผักและผลไม้ หรือการพัฒนาของไมโครเวฟต้นทุนต่ำนำไปสู่ปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถไมโครเวฟได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สามารถไมโครเวฟได้ (4) รายได้ที่สามารถใช้จ่ายได้ (disposable income) มากขึ้นประกอบกับผู้บริโภคนิยมพบปะสังสรรค์กันนอกบ้าน ซึ่งหมายความถึงการใช้จ่ายเงินกับอาหารมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารและเครื่องดื่มสุดหรูต่างๆ (5) การเดินทางไปต่างประเทศและการเปิดรับต่อวัฒนธรรมอื่นๆ มากขึ้น นำไปสู่ความสนใจในการบริโภคอาหารพื้นเมืองที่มีการเตรียมแบบง่ายๆ เพิ่มมากขึ้น