๊UAE/อุตสาหกรรมผลไม้
ผลิตภัณฑ์ผลไม้สด แปรรูป และน้ำผลไม้
1. ผลไม้สด
การเพาะปลูกผลไม้ในตะวันออกกลาง ประเทศที่ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค คือ อิหร่าน ในขณะที่ UAE โอมาน คูเวต การ์ตา บาห์เรน นั้นเพาะปลูกผลไม้ได้น้อยมากที่สำคัญมีเพียงชนิดเดียวคืออินทผลัม แต่ก็มีปริมาณไม่เพียงพอบริโภคในประเทศ ขณะที่ซาอุดิอาระเบียและประเทศในตะวันออกกลางอื่นๆ สามารถเพาะปลูกผลไม้ได้บ้างและมีความหลากหลายพอสวมควร เช่น ส้ม แทนเจอรีน เกรปฟรุต องุ่น เมล่อน เป็นต้น แต่ก็ยังมีผลผลิตค่อนข้างน้อย ต้องพึ่งพาการนำเข้าเช่นกัน รายละเอียดปริมาณผลผลิตผลไม้ที่สำคัญของแต่ละประเทศดังแสดงในภาคผนวก
ผลไม้เป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่มีการนำเข้าในปริมาณมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเนื่องจากคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ผักผลไม้สดจึงเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับความนิยม ในปี 2557 มูลค่าการนำเข้าผลไม้ของ UAE ยู่ที่ 1,435.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณร้อยละ 9.4 ของมูลค่าการนำเข้าอาหารทั้งหมด และพบว่ามีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 19.39 ต่อปี ผลไม้ที่มีการนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ส้ม แอปเปิล แพร์ อินทผลัม องุ่น กล้วย สับปะรด มะม่วง เป็นต้น
สภาพความแห้งแล้งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำเกษตรกรรมของประเทศรัฐบาลให้การสนับสนุนการทำเกษตรกรรมในประเทศหลายช่องทาง เริ่มจากให้การสนับสนุนนักลงทุน ด้วยการไม่เก็บภาษีนำเข้าผลผลิตที่มีการควบคุมคุณภาพ ปลอดโรคและแมลง สนับสนุนเทคโนโลยีการเกษตร และอำนวยความสะดวกด้านระบบชลประทานให้กับเกษตรกรในประเทศ โดยมีศูนย์บริการเกษตรกรของรัฐอาบูดาบี (Abu Dhabi Farmers’ Services Centre: ADFSC) เป็นหน่วยงานที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลของรัฐอาบูดาบีในการปฏิรูปหลักการและวิธีการที่ดีในการทำเกษตรกรรม
อาหารอินทรีย์และฟาร์มเกษตรอินทรีย์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เติบโตและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรของประเทศที่ให้ความใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยฟาร์มเกษตรอินทรีย์ใน UAE ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่รัฐดูไบและรัฐอาบูดาบี สามารถปลูกผักและผลไม้ได้มากกว่า 70 ชนิด เช่น แครอต บีทรูต ผักใบเขียว ผักโขม ส้ม แตงโม ทับทิม สตรอเบอร์รี่ และมะม่วง
การบริโภคผลไม้สดของชาวอาหรับนั้นแทบจะเป็นของคู่กันในมื้ออาหาร นอกจากนี้ นักเดินทางหรือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใน UAE ก็มีพฤติกรรมที่ต้องรับประทานผลไม้ด้วยในแต่ละวัน ทำให้ UAE มีความต้องการนำเข้าผลไม้สดจำนวนมากในแต่ละปี ตลาดอาหารของประเทศ UAE เผชิญกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขายอาหารสด รวมทั้งปริมาณการขายของร้านอาหารและร้านอาหารจานด่วน ปริมาณการขายอาหารสดของ UAE คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 2.8 ล้านตันในปี 2558 ไปถึงประมาณ 3,600,000 ตันในปี 2562 การเติบโตของธุรกิจบริการอาหารมีส่วนขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดผลไม้สดด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะมองหาผลไม้สดที่มีคุณภาพดีและดีต่อสุขภาพมากขึ้น
ในปี 2558 ที่ผ่านมาไทยส่งออกผลไม้เมืองร้อน(tropical fruits) 1.14 ล้านตัน มูลค่า 32,292.81 ล้านบาท ตลาดส่งออกที่สำคัญส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย เมียนมาร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ เป็นต้น การส่งออกผลไม้เมืองร้อนไปตะวันออกกลางนั้นยังมีส่วนแบ่งตลาดไม่มากนัก มีมูลค่าเพียง 717.58 ล้านบาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 2.22 ของมูลค่าส่งออกเท่านั้น ส่วนการส่งออกผลไม้เมืองร้อนไป UAE นั้น ปี 2558 ไทยส่งออกปริมาณ 5,074.28 ตัน มูลค่า 436.14 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.78 ของมูลค่าส่งออกผลไม้เมืองร้อนไปตะวันออกกลาง ทั้งนี้ ผลไม้ส่งออกที่สำคัญในตลาดตะวันออกกลางและ UAE อันดับ 1 ได้แก่ เงาะ รองลงมาคือมังคุด ลำไย มะขามหวาน มะม่วง ลิ้นจี่ รายละเอียดมูลค่าส่งออกดังภาพที่ 4.19
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตุคือ ผลไม้ที่ชาวอาหรับชื่นชอบส่วนใหญ่จะเป็นผลไม้ที่มีรสชาติหวานนำ โดยเฉพาะเงาะและมะขามหวาน นอกจากนี้ ยังมีผลไม้ไทยชนิดใหม่ๆที่เข้าสู่ตลาดและเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน ได้แก่ ฝรั่ง ส้มโอ มะละกอ ขนุน แก้วมังกร และทุเรียน และเมื่อพิจารณาราคาส่งออกเฉลี่ยต่อหน่วย พบว่าราคาของขนุนและแก้วมังกรนั้นมีระดับค่อนข้างสูงกว่าผลไม้ชนิดอื่นๆ ทั้งที่ราคาในไทยค่อนข้างต่ำกว่าผลไม้อื่นๆมาก ส่วนราคามะขามหวานและส้มโอนั้นก็มีระดับค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่จำหน่ายในประเทศไทย
สถานการณ์ส่งออกผลไม้เมืองร้อนของไทยในช่วง 6 เดือนแรกปี 2559 นี้ในภาพรวมของตลาดตะวันออกกลางและ UAEพบว่า ปริมาณส่งออกมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปี 2558 แต่ราคาส่งออกเฉลี่ยต่อหน่วยที่ส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก ทำให้มูลค่ารวมของการส่งออกปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย รายละเอียดดังตารางที่ 4.15-4.16 อย่างไรก็ตาม ผลไม้ที่ราคาปีนี้ปรับตัวลดลงต่ำกว่าปีที่แล้วมีเพียงชนิดเดียวคือ ลำไย ซึ่งการส่งออกช่วงต้นปีเป็นผลผลิตลำไยนอกฤดู ที่มีปริมาณน้อยกว่าปีที่แล้วเช่นกัน อาจเนื่องจากความต้องการของตลาดที่ลดลง ซึ่งต้องติดตามแนวโน้มหลังลำไยในฤดูออกอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง
การส่งออกผลไม้เมืองร้อนของไทยในตลาดตะวันออกกลาง ช่วงครึ่งปี 2559 ผลไม้ที่มีแนวโน้มเติบโตมากกว่าปีก่อนทั้งเชิงปริมาณและมูลค่า ได้แก่ มังคุด มะม่วง ทุเรียน และขนุน โดยราคาส่งออกเฉลี่ยต่อหน่วยของมังคุดและขนุนนั้นค่อนข้างทรงตัวใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
ส่วนตลาด UAE นั้น ผลไม้ที่มีแนวโน้มเติบโตมากกว่าปีก่อนทั้งเชิงปริมาณและมูลค่า คือ มังคุด ทุเรียน และขนุน โดยผลไม้ที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมากที่สุด 3 ชนิดแรก คือ มะม่วง ลิ้น จี่ และมะขามหวาน แต่ผลไม้ที่มีราคาส่งออกเฉลี่ยต่อหน่วยสูงที่สุด คือ ขนุน อาจเป็นสินค้าที่กำลังเป็นที่สนใจของตลาด เพราะปริมาณส่งออกขยายตัวดีกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 29.90 ใน UAEและขยายตัวร้อยละ 17.10 ในตะวันออกกลาง
2. ผลไม้กระป๋อง
ในช่วงปีที่ศึกษาข้อมูล คือ 2554-2558 ภาพรวมตลาดผลไม้กระป๋องในตะวันออกกลางนั้นมีมูลค่านำเข้าเฉลี่ย 217,476 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราเติบโตของมูลค่านำเข้าเฉลี่ยร้อยละ 9.67 ต่อปี เมื่อพิจารณารายกลุ่มสินค้าสามารถกล่าวได้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมบริโภคสับปะรดกระป๋องมากที่สุด ส่วนหนึ่งมาจากคุณสมบัติของสับปะรดที่ช่วยย่อยโปรตีน เหมาะสำหรับการบริโภคเพื่อลดอาการแน่นท้องจากการบริโภคเนื้อสัตว์มากเกินไป ข้อมูลนี้ตอกย้ำความจริงได้จากมูลค่าตลาดของการนำเข้าสับปะรดกระป๋อง(HS 200820) ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 30.47 หรือประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่านำเข้าผลไม้กระป๋องทั้งหมดของตะวันออกกลาง หรือมีมูลค่าเฉลี่ยต่อปีประมาณ 66,260.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีอัตราเติบโตเฉลี่ยถึงร้อยละ 10.74 ต่อปี ส่วนผลไม้กระป๋องที่มีมูลค่าตลาดรองลงมาที่สามารถระบุชนิดได้ชัดเจน ได้แก่ กลุ่มผลไม้อื่นๆ (HS 200899) เช่น ว่านหางจระเข้ ผลไม้เขตร้อนต่างๆ, ท้อและเนกทารีน(HS 200870), ส้ม (HS 200830), ยอดอ่อนต้นปาล์ม (HS 200891) รายละเอียดของส่วนแบ่งตลาดและอัตราเปลี่ยนแปลงของมูลค่านำเข้า ดังภาพที่ 4.20
ส่วนตลาดผลไม้กระป๋องใน UAE นั้นมีจะมีขนาดเล็กกว่าภูมิภาคตะวันออกกลางถึง 3.54 เท่า กล่าวคือ มีมูลค่านำเข้าเฉลี่ยต่อปี ในช่วงที่ศึกษา ปี 2555-2558 เท่ากับ 61,408.25 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ แต่ก็มีอัตราเติบโตเฉลี่ยในระดับที่น่าสนใจ คือร้อยละ 18.84 ต่อปี แสดงถึงความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ สับปะรดกระป๋องยังคงครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด คือร้อยละ 51.82 ของมูลค่าตลาดผลไม้กระป๋องทั้งหมดใน UAE โดยที่ตลาด UAE นั้น คิดเป็นร้อยละ 28.24 ของมูลค่าตลาดในตะวันออกกลางเท่านั้น สับปะรดกระป๋องมีแนวดน้มนำเข้าขยายตัวดีมากในช่วงที่ศึกษา คือขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 51.82 ต่อปี ส่วนผลไม้กระป๋องที่มีมูลค่าตลาดรองลงมาที่สามารถระบุชนิดได้ชัดเจน ได้แก่ กลุ่มผลไม้อื่นๆ (HS 200899) เช่น ว่านหางจระเข้ ผลไม้เขตร้อนต่างๆ, ท้อและเนกทารีน(HS 200870), ส้ม (HS 200830) รายละเอียดของส่วนแบ่งตลาดและอัตราเปลี่ยนแปลงของมูลค่านำเข้า ดังภาพที่ 4.20
ทั้งนี้ ประเทศแหล่งนำเข้าสับปะรดกระป๋องที่สำคัญซึ่งถือเป็นคู่แข่งของไทย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เยอรมนี เคนยา ถึงแม้ไทยจะยังครองตลาดอันดับ 1 ก็ตาม แต่จากการสัมภาษณ์บริษัทผู้นำเข้าก็พบว่ามีความสนใจสินค้าของประเทศคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในอาเซียน เพราะราคาต่ำกว่าไทย และคุณภาพใกล้เคียงกัน
สำหรับการส่งออกผลไม้กระป๋องของไทยไป UAE ในปี 2558 พบว่า มีปริมาณ 24,470 ตัน มัอตราเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 31.98 มูลค่า 996.60 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.04 โดยจำแนกออกเป็นการส่งออกสับปะรดกระป๋องร้อยละ 86.47 มะม่วงกระป๋องร้อยละ 2.92 และผลไม้อื่นๆ เช่น ว่านหางจระเข้ ลิ้นจี่ เงาะ ลำไย เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 10.61 ช่วง 6 เดือนแรกปี 2559 ปริมาณส่งออก 11,156 ตัน มูลค่า 454.83 ล้านบาท มีอัตราลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 26.93 เชิงปริมาณ และลดลงร้อยละ 25.63 เชิงมูลค่า สาเหตุหนึ่งเนื่องจากวัตถุดิบสับปะรดขาดแคลน
3. น้ำผลไม้
โครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำผลไม้ของ UAE มีโรงงานผลิตน้ำผลไม้หลายแห่งใน UAE บางโรงงานเป็นของบริษัทต่างชาติเข้าร่วมหุ้น อาทิ น้ำผลไม้ ยี่ห้อ Capri-Sun และ Lacnor's ของฝรั่งเศส หลายโรงงานมียี่ห้อของตนเอง อาทิ Masafi, Blubird, Sunblast , Barakat , Frutina
ในอุตสาหกรรมน้ำผลไม้ผู้ผลิตได้ขยายทั้งกำลังการผลิตและทางเลือกของสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น เพิ่มรสชาติของน้ำผลไม้ เพิ่มวิตามินหรือการรวมกันของน้ำผักและผลไม้ สร้างเครื่องหมายการค้าใหม่ เพิ่มขนาดของบรรจุภัณฑ์ (1.5 ลิตร, 2 ลิตร) เหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกดื่มน้ำผลไม้เพิ่มมากขึ้นและทำให้ตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม น้ำผลไม้ที่ผลิตในประเทศสามารถตอบสนองตลาดได้เพียงร้อยละ 56 จากความต้องการทั้งสิ้น ซึ่งยังไม่รวมการนำเข้าเพื่อการส่งออกต่อ (Re-Export) ดังนั้น UAE ยังคงต้องนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากต่างประเทศ
ลักษณะสินค้าและบรรจุภัณฑ์
1. บรรจุภัณฑ์น้ำผลไม้ที่วางจำหน่ายได้แก่ ขวดพลาสติก กระป๋อง ซองอลูมิเนียม และน้ำผลไม้ Ultra High Temperature (UHT) บรรจุในกล่อง Tetra Pak ขนาดบรรจุมีหลายขนาด อาทิ 200 มล., 500 มล., 1 ลิตร และ 2 ลิตร
2. ชนิดของน้ำผลไม้ มีทั้งผลไม้เมืองหนาว และผลไม้เมืองร้อน Cranberry, grapefruit, grape, fruit cocktail, peach nectar, orange, tomato, apricot nectar, pineapple, mango nectar, strawberry nectar and orange carrot เป็นต้น
3. น้ำผลไม้แบ่งตามความเข้มข้นของผลไม้ เป็น น้ำผลไม้ 100% มีทั้งแบบน้ำผลไม้สดแบบธรรมชาติ และผ่านการฆ่าเชื้อ น้ำผลไม้แบบมีส่วนผสมน้ำผลไม้เข้มข้นน้อยกว่า 25 % เรียกเป็นเครื่องดื่มรสผลไม้ และน้ำผลไม้ผสมความเข้มข้น 25-99%
ตลาดน้ำผลไม้ใน UAE และตะวันออกกลาง
ในปี 2558 ยอดขายน้ำผลไม้ใน UAE มีปริมาณ 390 ล้านลิตร ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 มูลค่าตลาดราว 23,790.3 ล้านบาท มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.4 ต่อปี ในช่วงอีก 5 ปีข้างหน้า โดยร้อยละ 40.8 เป็นตลาดของน้ำผลไม้ 100% แสดงถึงว่าผู้บริโภคในตลาดนี้มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับตลาดอิหร่านถึงจะมีมูลค่าตลาดรวมใหญ่กว่าคือ 42,647.7 ล้านบาท แต่ยอดขายส่วนใหญ่จะอยู่ที่เครื่องดื่มรสผลไม้ร้อยละ 42.7 แสดงว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อน้อย แต่ทว่าตลาดอิหร่านในอนาคตยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก เพราะมีตัวเลขคาดการณ์อัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึงร้อยละ 14.8
สภาพตลาดน้ำผลไม้โดยรวมใน UAE มีการแข่งขันรุนแรง เพราะมีผู้ผลิตน้ำผลไม้จากทั่วโลกเข้ามาทำตลาดใน UAE เป็นเวลานานแล้ว ทั้งในส่วนของสินค้าที่เป็นแบรนด์ระดับโลก (Global Brand) หรือแบรนด์ท้องถิ่นที่ร้านค้าปลีกนำมาทำตลาด รวมทั้งต้องแข่งขันกับเครื่องดื่มชนิดอื่นที่มีหลากหลายในตลาด ส่งผลทำให้ราคาจำหน่ายที่ผู้ประกอบการได้รับอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม ตลาดที่มีความแตกต่างของผู้บริโภคอย่างมากเช่น UAE จึงสามารถพบเห็นสินค้าพรีเมี่ยมเป็นตัวเลือกด้วยเช่นกัน เช่น น้ำผลไม้อินทรีย์ น้ำผลไม้คั้นสดใหม่ทุกวันบรรจุบวดผลิตโดยโรงงานที่มีระบบสุขอนามัยระดับสากล
ตัวอย่างหนึ่งของน้ำผลไม้แบบพรีเมี่ยมในตลาด คือน้ำผลไม้คั้นสด ซึ่งตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีรายได้สูง โดยบริษัท Barakat Quality Plus ร่วมกับบริษัทจากยุโรปตั้งโรงงานผลิตน้ำผลไม้คั้นสดสำหรับส่งให้กับโรงแรมใน UAE และบางส่วนมีวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกต และร้านค้าของบริษัทเอง โดยต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิ 2-4 องศาเซลเซียส และมีอายุไม่เกิน 7 วัน
อีกตัวอย่างผู้ผลิตน้ำผลไม้บรรจุกล่อง tetra pack คือ บริษัท Unikai Food PJLC ซึ่งเดิมเป็นบริษัทผู้ผลิตนม และขยายไลน์การผลิตไอศกรีมและน้ำผลไม้เพิ่มขึ้น โดยเริ่มนำผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้สู่ตลาด UAE เมื่อปี 2555 นอกจากนี้บริษัทยังดำเนินธุรกิจจัดส่งสินสินค้าทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง ทำให้มีศักยภาพในการเข้าถึงช่องทางจัดจำหน่ายได้ครอบคลุม ถือเป็นคู่แข่งขันที่สำคัญในตลาด
จากรายงานของหลายสำนักวิจัยต่างประเมินว่าแนวโน้มการดื่มน้ำผลไม้ในตะวันออกกลางและ UAE จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยดับกระหายและมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยประเมินว่าในปี 2563 ประชากรในภูมิภาคนี้จะมีอัตราบริโภคน้ำผลไม้ต่อคนต่อปีสูงกว่าในยุโรป โดย Euromoniotr ประเมินปริมาณจำหน่ายน้ำผลไม้แต่ละกลุ่มดังภาพที่ 4.26 โดยมีปัจจัยขับดันที่สำคัญ ได้แก่
• รายได้ของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น
• ผู้บริโภคต้องการความหลากหลายด้านรสชาติมากขึ้น จากการเดินทางไปศึกษา ทำงาน หรือท่องเที่ยวในต่างประเทศ
• การแข่งขันของธุรกิจค้าปลีก ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อดึงดูดลูกค้า
• การที่ผู้ผลิตน้ำผลไม้พยายามปรับปรุงและพัฒนาออกผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดมากขึ้นเพื่อขยายตลาด
• แนวโน้มการใส่ใจในสุขภาพทำให้เลือกบริโภคน้ำผลไม้สด/ 100% มากขึ้น
ศักยภาพการค้าระหว่างประเทศ
มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในสินค้าน้ำผักผลไม้ทั่วโลกโดยเฉลี่ยในช่วง 5 ปี (2554-2558) อยู่ที่ประมาณ 16,804.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีอัตราเติบโตเฉลี่ยลดลงร้อยละ 3.9 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลทำให้การค้าซบเซา ประเทศผู้นำเข้าสินค้าน้ำผักผลไม้ที่สำคัญ 5 อันดับแรก มีส่วนแบ่งตลาดรวมร้อยละ 46.8 เรียงลำดับตามส่วนแบ่งตลาด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี เบลเยี่ยม และฝรั่งเศส โดยมีเพียงประเทศเบลเยี่ยมเท่านั้นที่มูลค่านำเข้าเฉลี่ยในช่วง 5 ปี (2554-2558) มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น
ขณะที่ประเทศสมาชิกในตะวันออกกลางมีมูลค่านำเข้าน้ำผลไม้จากทั่วโลกเฉลี่ยในช่วง 5 ปี (2554-2558) อยู่ที่ 1,042.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6.2 มีอัตราการนำเข้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.2 สวนทางกับทิศทางตลาดโลกโดยภาพรวม
เมื่อพิจารณารายประเทศในตะวันออกกลาง พบว่าตลาดนำเข้าเครื่องดื่มกลุ่มน้ำผลไม้ที่สำคัญ 5 อันดับแรก เฉลี่ยในช่วง 5 ปี (2554-2558) มีสัดส่วนมูลค่านำเข้าร่วมถึงร้อยละ 69.3 ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย (สัดส่วนร้อยละ 29.9) ยูเออี (สัดส่วนร้อยละ 13.9) โอมาน (สัดส่วนร้อยละ 9.7) คูเวต (สัดส่วนร้อยละ 8.3) และอิรัก (สัดส่วนร้อยละ 7.6) ดังภาพที่ 4.27 ส่วนตลาดที่สำคัญรองลงมา เช่น อิสราเอล เยเมน บาห์เรน อิหร่าน เป็นต้น
ในส่วนของประเทศไทยพบว่ามีการส่งออกน้ำผลไม้ไปยังตลาดโลกเฉลี่ยในช่วง 5 ปี (2554-2558) มูลค่า 496.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีอัตราขยายตัวของมูลค่าส่งออกเฉลี่ยร้อยละ 9.1 ต่อปี
ในช่วงปี 2554-2558 UAE นำเข้าน้ำผลไม้มูลค่าเฉลี่ย 144.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยในอัตราร้อยละ 5.0 ต่อปี แหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ ไทย สเปน เยอรมนี สหราชอาณาจักร ออสเตรีย เกาหลีใต้ และอินเดีย ขณะที่การส่งออกเครื่องดื่มน้ำผลไม้ (HS 2009) ไปตะวันออกกลางมีมูลค่าเฉลี่ย 126.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยในอัตราร้อยละ 0.52 ต่อปี โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อียิปต์ โอมาน อิรัก อิหร่าน อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกค่อนข้างแปรปรวนในตลาดโอมาน อิรัก อิหร่าน ส่วนอียิปต์นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าส่งออกเฉลี่ยไปยังตลาดแอฟริกา แคริบเบียน และหมู่เกาะแปซิฟิก (ACP group) เท่ากับ 14.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยในอัตราร้อยละ 6.3 ต่อปี โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ เซเนกัล โคโมรอส เคนยา และจิบูตี มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดของ UN COMTRADE statistics ปี 2558 พบว่ามูลค่าส่งออกน้ำผลไม้จาก UAE ไปตลาดต่างๆ 5 อันดับแรก ได้แก่ โอมาน ซาอุดิอาระเบีย การ์ตา อินเดีย และมัลดีฟส์
ปี 2558 ชนิดของน้ำผลไม้ที่นำเข้า UAE มากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ น้ำผักหรือน้ำผลไม้ผสมกัน มีสัดส่วนถึงร้อยละ 58.41 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด รองลงมาคือ น้ำแบล็กเคอแรนต์(ร้อยละ 15.48) น้ำส้ม(ร้อยละ 11.83) น้ำแอ้ปเปิ้ล(ร้อยละ 5.39) และน้ำสับปะรด(ร้อยละ 3.34) ตามลำดับ
จากภาพที่ 4.28 จะเห็นได้ว่าถึงแม้ไทยจะมีผลไม้อุดมสมบูรณ์เป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำผลไม้แต่กลับมีส่วนแบ่งในตลาด UAE และตะวันออกกลางน้อยมาก ขณะที่ UAE ไม่มีวัตถุดิบผลไม้และพึ่งพาการนำเข้าแทบทั้งหมด แต่สามารถส่งออกน้ำผลไม้ไปตลาดตะวันออกกลางและกลุ่ม ACP มีมูลค่าสูงกว่าไทยมากกว่า 14 เท่าตัว แสดงถึงศักยภาพในการเข้าถึงตลาดได้มากกว่าไทย ตลาดตะวันออกกลางแม้จะมีสัดส่วนการนำเข้าน้ำผลไม้เพียงประมาณร้อยละ 6.2 ของมูลค่าตลาดโลก แต่ก็มีทิศทางเติบโตในทางบวก เพราะตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่แห้งแล้ง ทำให้มีลักษณะสภาพอากาศที่ร้อนเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับน้ำผลไม้เป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเมื่อเทียบกับน้ำหวานหรือน้ำอัดลม ซึ่งคาดว่าจะมีโอกาสทางการค้าสดใสในอนาคตโดยเฉพาะในช่วงที่ผู้บริโภคในกลุ่มตะวันออกกลางหันมาใส่ใจสุขภสพมากขึ้นเพราะประสบปัญหาด้านน้ำหนักและสภาวะโรคอ้วน ดังนั้น การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจและสร้างเครือข่ายการผลิตกับผู้ประกอบการในยูเออี จะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ไทยสามารถขยายการค้าในตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาได้มากขึ้น