Get Adobe Flash player

 

          การสร้างเครือข่ายการผลิตและการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่คุณค่าที่ยังคงเหลืออยู่ในประเทศไทย

การสร้างเครือข่ายการผลิตสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การค้า การจัดจ้างคนภายนอก (outsourcing) และการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ ซึ่งสำหรับการลงทุนโดยตรงในบางประเทศนั้นก็มีหลายรูปแบบ ทั้งการก่อตั้งบริษัทสาขา การควบรวมกิจการ และการย้ายฐานการผลิต ซึ่งการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศทั้ง 3 รูปแบบดังกล่าว สามารถทำได้ในลักษณะการเป็นเจ้าของทั้งหมด (wholly-owned) หรือ การรวมทุน (joint venture)

 

ที่มา : รายงานโครงการศึกษาแนวทางการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ), TDRI, 2556.

 การย้ายหรือขยายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศอื่น ในลักษณะที่จะช่วยยกระดับของอุตสาหกรรมของประเทศในระยะยาว ควรต้องพิจารณาการผลิตอย่างเป็นระบบทั้งห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายวัตถุดิบ เครือข่ายส่วนประกอบ เครือข่ายการผลิต เครือข่ายการส่งออก และเครือข่ายการตลาด ดังแสดงในภาพ  เนื่องจากการผลิตที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องอาศัยอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านวัตถุดิบ ส่วนประกอบ ตลาดส่งออก และการตลาด ดังนั้น ในการตัดสินใจลงทุนไปยังประเทศเป้าหมายข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสนับสนุนเหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อการตัดสินใจ

 

ที่มา : รายงานโครงการศึกษาแนวทางการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ), TDRI, 2556. 


              เหตุผลการลงทุนในต่างประเทศ

จากรายงานวิจัยเรื่องโอกาสและลู่ทางการลงทุนของไทยในสหภาพยุโรป โดย บริษัทแอ็คเซส - ยุโรป (Access - Europe) และสมาคมการค้าไทย - ยุโรป (Thai - European Business Association - TEBA) เสนอต่อ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ อ้างอิงถึง Narula and Dunning (2010) แบ่งเหตุผลการลงทุนในต่างประเทศเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1) เพื่อแสวงหาตลาด (Market seeking) เช่น การเปลี่ยนจากการส่งออกสินค้าไปยังประเทศหนึ่งเป็นการเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าและจำหน่ายในประเทศนั้นแทน เพื่อทดแทนการนำเข้า เพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษี (tariff-jumping) หรือเพื่อเป็นฐานการผลิตในการส่งออกไปยังประเทศอื่น (export platform)

2) เพื่อแสวงหาทรัพยากร (Resource seeking) เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบในการผลิต และแรงงานในประเทศที่มีอัตราค่าจ้างต่ำกว่า

3) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency seeking) เช่น การย้ายฐานการผลิตสินค้าไปยังประเทศที่เป็นตลาดสำคัญเพื่อประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ หรือประเทศที่มีอุตสาหกรรมต้นน้ำรองรับ 

4) เพื่อครอบครองสินทรัพย์ที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ (Strategic asset seeking) เช่น เทคโนโลยี ความรู้ความชำนาญ แบรนด์สินค้า ฐานลูกค้า เครือข่ายและช่องทางการกระจายสินค้า เป็นต้น