Get Adobe Flash player

 

แรงจูงใจการขยายเครือข่ายการผลิตไปยังต่างประเทศ

•          แรงจูงใจจากประเทศปลายทาง (Host Countries)

จากรายงานวิจัยเรื่องโอกาสและลู่ทางการลงทุนของไทยในสหภาพยุโรป โดยบริษัทแอ็คเซส-ยุโรป (Access-Europe) และสมาคมการค้าไทย-ยุโรป (Thai-European Business Association-TEBA) เสนอต่อ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ อ้างอิงถึง Narula and Dunning (2010) แบ่งเหตุผลการลงทุนในต่างประเทศเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1)   เพื่อแสวงหาตลาด (Market seeking) ซึ่งตลาดที่มีศักยภาพและมีตลาดขนาดใหญ่ย่อมจูงใจให้ภาคธุรกิจสนใจลงทุนเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว รูปแบบธุรกิจจึงเปลี่ยนจากการส่งออกสินค้าไปยังประเทศหนึ่ง เป็นการเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าและจำหน่ายในประเทศนั้นแทน เพื่อทดแทนการนำเข้า เพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษี (Tariff-jumping) หรือเพื่อเป็นฐานการผลิตในการส่งออกไปยังประเทศอื่น (Export platform)

2)   เพื่อแสวงหาทรัพยากร (Resource seeking) ทั้งในส่วนของทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบในการผลิต ทรัพยากรมนุษย์ที่ต้นทุนต่ำหรือที่แรงงานที่มีทักษะ รวมถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น แหล่งพลังงาน ระบบขนส่ง และระบบคมนาคมที่สนับสนุนกระบวนการผลิต

3)   เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency seeking) เช่น การย้ายฐานการผลิตสินค้าไปยังประเทศที่เป็นตลาดสำคัญเพื่อประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ หรือประเทศที่มีอุตสาหกรรมต้นน้ำรองรับ

4)   เพื่อครอบครองสินทรัพย์ที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ (Strategic asset seeking) เช่น เทคโนโลยี ความรู้ความชำนาญ แบรนด์สินค้า ฐานลูกค้า เครือข่ายและช่องทางการกระจายสินค้า เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน World Economic Forum ยังระบุเพิ่มเติมว่า มีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญในการพิจารณาขยายธุรกิจไปต่างประเทศ นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางกฎหมายและนโยบาย โดยระบบกฎหมายที่อ่อนแอ การทุจริตคอร์รัปชั่นสูง มาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานแรงงานต่ำ และระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่อ่อนแอ เป็นอุปสรรคที่ทำให้ประเทศนั้นไม่ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจต่างชาติที่จะเข้าไปลงทุน ในทางกลับกัน นโยบายที่สนับสนุนอุตสาหกรรม การบริการ และนวัตกรรม เช่น การลงทุนในทุนมนุษย์และการศึกษา หรือสภาพแวดล้อมทางกฎระเบียบที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจจะส่งเสริมให้ประเทศเป็นแหล่งเป้าหมายสำคัญในการย้ายฐานการผลิต


•   แรงจูงใจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม

ในการตัดสินใจขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเป้าหมาย ข้อมูลสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ซึ่งความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมขึ้นอยู่กับ ราคา คุณภาพ นวัตกรรม และการส่งมอบสินค้า ซึ่งมีปัจจัยเกี่ยวข้องที่สำคัญคือ

1)  สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วย

•   สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่

-     นโยบายเศรษฐกิจมหภาค เช่น เงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะมีผลต่อค่าจ้างแรงงานและต้นทุนในการประกอบธุรกิจในประเทศเป้าหมายในระยะยาว

-     กฎระเบียบของรัฐ เช่น สิทธิความเป็นเจ้าของในกิจการหรือที่ดิน กฎหมายแรงงาน และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

-     สิทธิประโยชน์การค้า เช่น สิทธิประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) หรือสิทธิพิเศษทางศุลกากร (Generalized System of Preferences: GSP) เป็นต้น

-     สิทธิประโยชน์การลงทุน เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร หรือการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น

•   โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ได้แก่

-     โครงสร้างพื้นฐานทั่วไป เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ต

-     ระบบโลจิสติกส์และการขนส่ง ซึ่งจะมีผลต่อทั้งต้นทุนและเวลาในการส่งมอบสินค้า

•   โครงสร้างพื้นฐานอื่น โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านสังคม เช่น โรงเรียน โรงพยาบาลและสันทนาการต่างๆ ซึ่งดึงดูดผู้บริหาร แรงงานมีทักษะและนักวิชาชีพ

2)  เงื่อนไขสำคัญของความสามารถในการแข่งขัน

•          แรงงาน โดยเฉพาะผลิตภาพแรงงาน ค่าจ้างแรงงาน ตลอดจนสวัสดิการและนโยบายสังคมรวมทั้งความยากง่ายและต้นทุนในการจ้างวิศวกร และแรงงานมีทักษะต่างๆ

•          วัตถุดิบ โดยเฉพาะความสามารถในการเข้าถึงวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำหรือคุณภาพสูง

•          แรงจูงใจเพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรม

การย้ายหรือขยายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศอื่น ในลักษณะที่จะช่วยยกระดับของอุตสาหกรรมของประเทศในระยะยาว ควรต้องพิจารณาการผลิตอย่างเป็นระบบทั้งห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายวัตถุดิบ เครือข่ายส่วนประกอบ เครือข่ายการผลิต เครือข่ายการส่งออก และเครือข่ายการตลาด ซึ่งการผลิตที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องอาศัยอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านวัตถุดิบ ส่วนประกอบ ตลาดส่งออก และการตลาด ดังนั้น ในการตัดสินใจลงทุนไปยังประเทศเป้าหมายข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสนับสนุนเหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อการตัดสินใจ