Get Adobe Flash player

 

รูปแบบการสร้างเครือข่ายการผลิตในต่างประเทศ

การสร้างเครือข่ายการผลิตในต่างประเทศ หรือกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ (Strategies for entering foreign markets) โดยทั่วไปสามารถจำแนกออกได้ 3 วิธี ใหญ่ๆ Young et al. (1989); UNCTAD (2011) ได้แก่ (1) การทำการค้า (Trade) (2) การขยายสู่ตลาดต่างประเทศโดยไม่ถือหุ้นโดยตรง (Non-equity modes: NEMs) และ (3) การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI)

1)      การส่งออก (Exporting) เป็นวิธีการพื้นฐานที่สุดในการดำเนินงานของธุรกิจระหว่างประเทศและเป็นวิธีการที่มีความเสี่ยงน้อย เพราะเพียงแค่จัดส่งสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบการทำการตลาดกับผู้บริโภคปลายทาง โดยการส่งออกแบ่งออกได้ 2 วิธี ได้แก่

•  การส่งออกทางตรง (Direct Exporting) หมายถึงการที่กิจการทำหน้าที่ในการส่งสินค้าของตนไปสู่ลูกค้าในต่างประเทศโดยตรง ไม่ผ่านคนกลางใดๆ

•  การส่งออกทางอ้อม (Indirect Exporting) คือการที่ผู้ผลิตได้มอบหมายให้ผู้อื่นทำหน้าที่ในส่วนที่เป็นการส่งสินค้าออกแทนตนเอง

2) การขยายสู่ตลาดต่างประเทศโดยไม่ถือหุ้นโดยตรง (Non-equity modes: NEMs)  ซึ่ง NEMs หมายถึง การทำสัญญาระหว่างบริษัทที่เป็นนายจ้างกับบริษัทคู่สัญญาโดยที่ไม่มีเรื่องการถือครองหุ้นเข้าไปเกี่ยวข้อง NEMs สามารถทำได้หลายลักษณะด้วยกัน โดยรูปแบบที่จะพบเห็นได้บ่อย อาทิ  การจ้างผลิต การจ้างบริการ การให้ลิขสิทธิ์หรือขายไลเซนส์ การให้สัมปทาน และการบริหารตามสัญญา เป็นต้น

•  การทำสัญญาจ้างผลิต (Contract Manufacturing) คือ การที่กิจการหนึ่งทำสัญญาจ้างบริษัทในต่างประเทศให้ทำการผลิต (Production Outsourcing) ให้บริการ (Services Outsourcing) และดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าของกิจการนั้นๆ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าการ Outsourcing NEMs ซึ่งสินค้าและบริการที่ผลิตต้องเป็นไปตามคุณภาพและมาตรฐานที่กำหนด โดยที่บริษัทหรือผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ทำการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวเอง รวมทั้งเป็นผู้รับผิดชอบกระบวนการทางการตลาดไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา และการส่งเสริมการจัดจำหน่ายด้วย รูปแบบนี้มีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม โรงแรม เทคโนโลยีสารสนเทศ และบริการทางธุรกิจต่างๆ การลงทุนในรูปแบบนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในภาคการเกษตรหรือที่รู้จักกันกว้างขวางในอีกชื่อเรียกว่า การเกษตรแบบมีพันธะสัญญา (Contract Farming) นั่นเอง

•  การให้ลิขสิทธิ์ (Licensing) คือ การที่บริษัทเจ้าของเครื่องหมายการค้า (Licensor) ได้รับอนุญาตให้บริษัทอื่นในต่างประเทศทำการผลิตสินค้าหรือบริการ (Licensee) ภายใต้เครื่องหมายการค้าและการควบคุมคุณภาพจากเจ้าของ โดยบริษัทในต่างประเทศผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการผลิตจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการได้รับอนุญาต (Royalty) ให้บริษัทเจ้าของเครื่องหมายการค้า โดยทั่วไปแล้วมักคิดเป็นร้อยละจากยอดขาย หรืออาจจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ให้สิทธิ์ตามที่ได้ตกลงเป็นกรณีไป

•  การให้สัมปทาน (Franchising) จัดเป็นวิธีการหนึ่งของการได้รับอนุมัติ (License) ซึ่งการให้สัมปทานคือการที่เจ้าของสิทธิ์ (Franchisor) อนุญาตให้คู่ค้าทางธุรกิจหรือผู้รับสิทธิ์ (Franchisee) สามารถประกอบธุรกิจโดยใช้ชื่อการค้า เครื่องหมายการค้า การบริหาร และระบบธุรกิจที่เจ้าของสิทธิ์พัฒนาขึ้น โดยผู้รับสิทธิ์จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแรกเข้าหรือค่าสิทธิ์ (Franchise Fee) และค่าตอบแทนตามผลประกอบการ (Royalty Fee) ให้กับเจ้าของสิทธิ์หรือเจ้าของสัมปทาน

•  การบริหารตามสัญญา (Management Contract) คือ การที่บริษัทหนึ่งรับจ้างบริหารจัดการตามความชำนาญหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้กับอีกบริษัทหนึ่ง โดยผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างบริหารให้กับบริษัทผู้รับจ้าง โดยตัวอย่างการทำธุรกิจในลักษณะนี้ เช่น โรงแรมที่เจ้าของธุรกิจมีเงินทุนแต่อาจไม่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารและไม่มีแบรนด์ที่มีชื่อเสียงของตนเองมากนัก จะนิยมจ้างบริษัทที่เป็นนักบริหารที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับเข้ามาบริหารโรงแรมให้ ซึ่งอาจอยู่ในรูปการเข้า chain โรงแรมก็ได้

3)  การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) เป็นหนึ่งในแนวคิดการสร้างเครือข่ายการผลิตในต่างประเทศ ซึ่งการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศมีหลายรูปแบบมาก แต่โดยทั่วไปพอสรุปได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ ได้แก่ การก่อตั้งบริษัทสาขาหรือการลงทุนใหม่ (Greenfield) และการควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition)

•  การก่อตั้งบริษัทสาขาหรือการลงทุนใหม่ (Greenfield Investment) เปนการนําเงินทุนเขามาลงทุนจากตางประเทศโดยตรงและเป็นการลงทุนใหม ซึ่งอาจอยู่ในรูปของการนําผลกําไรจากการลงทุนในประเทศนั้น เพื่อการลงทุนเพิ่ม (Reinvested earnings) หรือการกูยืมเงินจากบริษัทแมในประเทศตนทางหรือจากบริษัทในเครือนอกประเทศ เขามายังประเทศปลายทางภายใตกําหนดเวลาและผลตอบแทน (Intra-company loans)

•  การควบรวมกิจการ (Merger) สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในลักษณะที่หน่วยธุรกิจหนึ่งผนวกกิจการเข้ากับธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือเกี่ยวพันกัน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปการเข้าซื้อกิจการ (Acquisition) เพื่อให้ได้เป็นเจ้าของเหนือกิจการเดิมและนำกิจการนั้นเข้าเป็นกิจการในเครือของผู้ซื้อ เพื่อให้ได้สิทธิ์ในการควบคุมการบริหารและกลยุทธ์ทางธุรกิจ รวมถึงคาดหวังประโยชน์ภายหลังจากมีการควบรวมกิจการ อาทิ การเพิ่มส่วนแบ่งตลาด การผนวกทักษะและเทคโนโลยี ความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่กิจการดังกล่าวครอบครองอยู่ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานลดลง แข่งขันได้ดีขึ้น และเพิ่มอำนาจการต่อรองของกิจการได้

ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศทั้ง 2 รูปแบบดังกล่าว ก็สามารถดำเนินงานได้ทั้งในลักษณะการเป็นเจ้าของทั้งหมด (Wholly-owned) หรือการรวมทุน (Joint venture) ได้แก่

•  การลงทุนโดยบริษัทแม่ทั้งหมด (Wholly Own) หมายถึงการที่กิจการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศด้วยเงินทุนของตนเอง

  •  การร่วมลงทุนระหว่างประเทศ (International Joint Venture) หมายถึง การร่วมลงทุนกับกิจการจากประเทศอื่นๆ ในการทำธุรกิจในประเทศใดประเทศหนึ่ง