สวัสดี

10 เทรนด์ตลาดอาหารและเครื่องดื่มในปี 2559 โดย New Nutrition Business

แชร์:
Favorite (38)

กุมภาพันธ์ 2559

New Nutrition Business ผู้นำระดับโลกที่ให้บริการข้อมูลเชิงลึกทางด้านอาหารและสุขภาพได้มีการเผยแพร่สิ่งที่เชื่อว่าจะเป็นแนวโน้มที่สำคัญในปี 2559 ของตลาดอาหารและเครื่องดื่ม โดยเน้นไปที่การเติบโตในระยะยาวที่จะมีผลในการผลักดันยอดขายหรือการขึ้นราคาของสินค้านั้น

เทรนด์ที่ 1  นิยามใหม่ของเครื่องดื่ม 

ในตลาดเครื่องดื่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะในตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่มีแบรนด์ชั้นนำที่อยู่ในตลาดมานาน ได้แก่ Pepsi และ Coca-Cola กำลังจะถูกแย่งชิงส่วนแบ่งโดยแบรนด์ในประเทศ ซึ่งนำเสนอน้ำจากพืชที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม แบรนด์ที่เกิดใหม่เหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องรสชาติและการกระจายสินค้า เพราะการที่สินค้าสามารถเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงยังคงเป็นสิ่งจำเป็น และยังคงต้องได้รับความร่วมมือจากบริษัทขนาดใหญ่ในการกระจายสินค้า 

ในอนาคตบริษัทเครื่องดื่มจะสร้างแบรนด์สำหรับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับรสนิยมและความต้องการที่หลากหลาย นอกจากนี้ ผู้บริโภคที่มีความกังวลเรื่องน้ำตาลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พวกเขามีความคิดเชิงลบต่อน้ำอัดลมและน้ำผลไม้ แต่มีความคิดเชิงบวกต่อเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อย เช่น น้ำจากพืชผัก อีกทั้งผู้บริโภคยังไม่ต้องการบริโภคสารให้ความหวานปราศจากแคลอรี่ทุกชนิด ซึ่งหมายความว่าแม้กระทั่งสินค้าที่ผลิตสำหรับการควบคุมน้ำหนักก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย 

เทรนด์ที่ 2  ตลาดขนมขบเคี้ยว
5    สิ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จในตลาดขนมขบเคี้ยว
1)    กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ถูกต้อง โดยเริ่มกำหนดเป้าหมายไปที่กลุ่มผู้ใหญ่ตอนต้น อายุระหว่าง 18-30 ปี เพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่บริโภคขนมขบเคี้ยวมากที่สุด
2)    เปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การกระจายตัวของตลาดและ ความชอบของผู้บริโภคที่หลากหลายทำให้เกิดโอกาสมากขึ้น อีกทั้งผู้บริโภคยินดีที่จะซื้อขนมขบเคี้ยวที่ดีต่อสุขภาพและมีนวัตกรรมใหม่ๆ
3)    ปรับเปลี่ยนขนมแบบเดิมๆ ผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสินค้าและหาตลาดใหม่ๆ เช่น การคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ให้กับขนมขบเคี้ยวให้เป็นสินค้าระดับพรีเมียมที่อร่อยและดีต่อสุขภาพ
4)    ให้ผู้บริโภคได้ผ่อนคลาย การให้ผู้บริโภคได้ตามใจตัวเองในการรับประทานขนมเคี้ยวเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ และมักจะประสบความสำเร็จโดยการใช้วัตถุดิบที่มีการรับรู้ในเชิงบวกของผู้บริโภคในเรื่องของธรรมชาติและสุขภาพ เช่น ถั่ว ผลไม้ ธัญพืช และช็อคโกแลต 
5)    ทำให้เป็นสินค้าพรีเมี่ยม ในตลาดที่สินค้าพรีเมี่ยมถือเป็นเรื่องปกตินั้น การที่สินค้าพรีเมี่ยมใดสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในพื้นที่ต่างๆ ได้มากกว่าคู่แข่ง สินค้านั้นจะได้เปรียบในการขายสินค้าค่อนข้างมาก แม้จะเป็นตลาดที่อ่อนไหวต่อราคาสินค้าก็ตาม


เทรนด์ที่ 3  ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม
ในอนาคตตลาดผลิตภัณฑ์จากนมจะยังคงสดใสอยู่ แต่จะมีโอกาสสูงในเปลี่ยนตำแหน่งของแบรนด์ต่างๆ และพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้า ดังนั้นจึงไม่ควรคาดหวังที่จะประสบความสำเร็จในระดับสูงมากนัก ในเรื่องของตลาดนม ผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นได้หันกลับมาบริโภคนมที่มีไขมันปกติซึ่งมีรสชาติอร่อย ดังนั้นสินค้าที่มีรสชาติที่ดี  มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในตลาดมากกว่า ส่วนขนมที่ทำจากนมที่มีศักยภาพในตลาด ได้แก่ โยเกิร์ต นมผสมธัญพืช และชีส เพราะเป็นของว่างที่รับประทานง่ายได้ทุกเวลา นอกจากนี้ การบริโภคโยเกิร์ตไขมันต่ำจะค่อยๆ ลดลง เพราะผู้บริโภคที่กังวลเรื่องน้ำตาลทราบว่าโยเกิร์ตไขมันต่ำมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่าโยเกิร์ตแบบปกติ  ดังนั้นในอนาคตผู้บริโภคจะค่อยๆ หันไปบริโภคโยเกิร์ตที่มีน้ำตาลต่ำแทน 

เทรนด์ที่ 4  นิยามใหม่ของความหวาน 
น้ำตาลเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการบริโภคน้ำตาลที่มากเกินไปสามารถก่อให้เกิดโรคอ้วนและโรคเบาหวานได้ ส่วนสารให้ความหวานแทนน้ำตาลนั้นยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคไม่ต้องการบริโภคเช่นกัน  จึงยังไม่มีตัวเลือกที่จะมาแทนน้ำตาลจากธรรมชาติได้จนถึงตอนนี้ ผู้บริโภคที่ต้องการหลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มที่น้ำตาลสูง ได้หันมาดื่มน้ำที่แต่งรสหรือน้ำจากพืชแทน  ในการที่จะประสบความสำเร็จในตลาดนั้น ผู้ผลิตควรที่จะทำตลาดในกลุ่มสินค้าที่หวานน้อยแต่ยังมีรสชาติที่ดีอยู่  ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตน้ำผลไม้ควรจะออกสินค้าที่เป็นพวกน้ำจากพืชหรือน้ำผลไม้ที่มีส่วนผสมของพืช


เทรนด์ที่ 5  ความคิดของผู้บริโภคที่หลากหลาย

จากการที่ผู้บริโภคมีความคิดเป็นของตัวเองและไม่ยึดติดกับรสชาติใดรสชาติหนึ่ง พวกเขาจึงมีวิถีในการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพในแบบของตัวเอง เช่น การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเป็นบางมื้อ รับประทานมังสวิรัติ หรือรับประทานเนื้อสัตว์เป็นบางครั้งเพื่อให้รางวัลกับตนเอง นอกจากนี้ เทคโนโลยียังมีส่วนช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค โดยในยุคสมัยที่ง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทำให้ผู้บริโภคกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ จากการแชร์รูปภาพอาหารใหม่ๆ จากที่ต่างๆ ทั่วโลกบนสื่อสังคมออนไลน์ มีผลให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเปิดกว้างในการรับรู้สิ่งใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น นั่นหมายความว่าพวกเขามีอิสระทางความคิดมากขึ้นด้วย เพราะสามารถตัดสินใจด้วยตัวเองหรือหาข้อมูลเพิ่มเติมทางอินเตอร์เน็ตในสิ่งที่พวกเขาสงสัย เช่น อาหารชนิดไหนบ้างที่ดีหรือไม่ดีต่อสุขภาพ 

เทรนด์ที่ 6  ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจากธรรมชาติ
ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงและมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภคค่อนข้างสูง โดยจะเห็นได้ว่าเทรนด์เรื่องสุขภาพจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างแบรนด์หรือการออกสินค้าใหม่สู่ตลาด

เมื่อใดที่ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้ด้วยตัวเอง การโฆษณาเกี่ยวกับประโยชน์ของผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพอาจไม่จำเป็นมากนัก เพราะผู้บริโภคมีการรับรู้ในเชิงบวกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพอยู่แล้ว ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดที่ทรงพลังและอยู่เบื้องหลังของความสำเร็จของอัลมอนด์ โยเกิร์ต ผลิตภัณฑ์จากนม น้ำมะพร้าว และพิสทาชิโอ
 
ถึงแม้ว่าการเลือกวัตถุดิบที่ดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพจะเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่การขายสินค้านั้นยังจำเป็นที่จะต้องพึ่งอีก 4 ปัจจัย ซึ่งได้แก่ การตลาด เทคโนโลยีการจัดการ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และความสะดวกสบาย

เทรนด์ที่ 7  อาหารและเครื่องดื่มจากพืช
จากการเปิดตัวของอัลมอนด์และมะพร้าว ทำให้ผู้บริโภคหันกลับมาให้ความสนใจกับอาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากพืชอีกครั้ง และด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ    ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารและเครื่องดื่มจากพืชได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังรู้สึกดีเมื่อได้เลือกรับประทานอาหารจากพืช เพราะเชื่อว่าดีต่อสุขภาพของพวกเขา และหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์และนม เพราะเชื่อว่าไม่ดีต่อสุขภาพ


ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในตอนนี้เป็น Flexitarian คือรับประทานมังสวิรัตเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังสามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้เพียงแต่ลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ลง เพราะเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องรับประทานแต่พืชผักตลอดเวลา  ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำหรับอาหารที่ทำจากพืช โดยเฉพาะโปรตีนเกษตร และเครื่องดื่มที่ไม่ได้ทำมาจากนมจากสัตว์

เทรนด์ที่ 8  การขายสินค้าออนไลน์
การขายสินค้าออนไลน์เป็นกลยุทธ์การจำหน่ายสินค้าที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสำหรับแบรนด์ใหม่หรือแบรนด์เล็กๆ ที่ต้องการทดลองตลาด เพราะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง โดยไม่ต้องเสียค่าแรงให้กับพนักงานเหมือนร้านค้าแบบดั้งเดิม การขายสินค้าออนไลน์ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ควบคู่กับการค้าขายสินค้าตามร้านค้าได้อีกด้วย นอกจากนี้ ผู้บริโภคในเมืองใหญ่ๆ เริ่มหันมาซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อร้านค้าแบบดั้งเดิมในอนาคต 

เทรนด์ที่ 9  โปรตีนในอาหาร
ยอดขายของอาหารและเครื่องดื่มที่มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบหลักในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกระตือรือร้นในการบริโภคอาหารที่มีไขมันต่ำในหลายทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ โปรตีนดูเหมือนจะเป็นจุดสำคัญของชาวอเมริกันที่บริโภคเพื่อควบคุมน้ำหนักของพวกเขา ควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารที่คาร์โบไฮเดรตต่ำไปด้วย ในอนาคตแหล่งการบริโภคโปรตีนอาจจะเปลี่ยนไป  โดยผู้บริโภคจะหันมาบริโภคโปรตีนที่มาจากธรรมชาติอย่างเช่นเนื้อสัตว์กันมากขึ้น

เทรนด์ที่ 10  ผลิตภัณฑ์ Free-from
อาหารที่ปลอดกลูเตนยังคงได้รับความสนใจมาโดยตลอดและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ การระบุบนฉลากว่าเป็นอาหารที่ปลอดกลูเตนสามารถดึงดูดผู้บริโภคได้ร้อยละ 30 ของผู้บริโภคที่เห็นว่าเป็นข้อความในเชิงบวก นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากนมจากสัตว์หรือปราศจากน้ำตาลแล็คโตส เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคจะเลิกรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมเหล่านี้ แต่จะลดปริมาณการบริโภคลง ถ้าพวกเขามีโอกาสเลือกได้ เช่น ดื่มนมที่ทำมาจากพืชแทน

อาหารปลอดกลูเตน อาหารปราศจากนมจากสัตว์ หรืออาหารปราศจากน้ำตาลแล็คโตส มีความสัมพันธ์กับระบบการย่อยอาหาร เพราะมีข้อมูลว่าการรับประทานที่มีสารเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบการย่อยอาหารได้ และพวกเขารู้สึกดีขึ้นเมื่อลดการบริโภคอาหารที่ส่วนประกอบเหล่านี้ จึงเป็นอีกหนึ่งในเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคหันมารับประทานอาหารที่ปราศจากส่วนผสมเหล่านี้มากขึ้น


ที่มา: 
http://www.fdbusiness.com/top-2016-trends-from-new-nutrition-business/
http://ingredientsnetwork.com/new-nutrition-business-top-2016-trends-part-2-news038590.html

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527