สวัสดี

ธุรกิจร้านกาแฟในประเทศไทย

แชร์:
Favorite (38)

สิงหาคม 2558

ร้านกาแฟ เป็นธุรกิจในฝันของใครหลายคนที่คิดจะเข้ามาเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ ด้วยเงินลงทุนที่ไม่สูงมาก ขณะเดียวกันตลาดมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.4 ต่อปี กล่าวคือ จากปี 2552 มูลค่าตลาด 14,083 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 17,400 ล้านบาท ในปี 2557 เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดื่มกาแฟของผู้บริโภคชาวไทย

บทนำ

ร้านกาแฟ เป็นธุรกิจในฝันของใครหลายคนที่คิดจะเข้ามาเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ ด้วยเงินลงทุนที่ไม่สูงมาก ขณะเดียวกันตลาดมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.4 ต่อปี กล่าวคือจากปี 2552 มูลค่าตลาด 14,083 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 17,400 ล้านบาท ในปี 2557 เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดื่มกาแฟของผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งแต่เดิมนั้นชาวไทยนิยมดื่มกาแฟสำเร็จรูปเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันหันมานิยมเข้าร้านกาแฟสดคั่วบดที่มีการตกแต่งร้านหรูหราทันสมัย สะดวกสบาย มีบรรยากาศที่รื่นรมย์สำหรับการนั่งดื่มกาแฟมากขึ้น ดังจะเห็นได้จาก อัตราการบริโภคกาแฟของคนไทยเพิ่มขึ้นจาก 0.5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เมื่อปี 2552 เป็น 0.9 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในปี 2555 แต่ยังถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชียด้วยกันที่มีการบริโภคสูง เช่น ญี่ปุ่น และบรูไน บริโภคเฉลี่ย 3-4 กิโลกรัมต่อคนต่อปีหรืออัตราการบริโภคกาแฟของชาวยุโรปที่บริโภคมากถึง 5-9 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ดังนั้น โอกาสในเติบโตของธุรกิจกาแฟในประเทศไทยยังมีได้อีกมาก จึงทำให้ธุรกิจร้านกาแฟได้รับความสนใจจากนักลงทุนชาวต่างชาติหลายรายในการเข้ามาประกอบธุรกิจร้านกาแฟในประเทศรวมทั้งบริษัทผู้ผลิตภายในประเทศไทยเองที่มีกิจการเกี่ยวข้องกับกาแฟ ธุรกิจร้านอาหาร ตลอดจนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจร้านกาแฟมีความรุนแรงเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด จนทำให้ร้านค้าที่ไม่มีความพร้อมต้องออกจากธุรกิจไปเป็นจำนวนไม่น้อย

ผลิตภัณฑ์
ธุรกิจร้านกาแฟมี 3 รูปแบบดังนี้
1. ร้านกาแฟที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว หรือมักเรียกกันว่าสแตนอโลน (Stand Alone) มีลักษณะเป็นร้านที่ตั้งอยู่อย่างโดดเด่น มีขนาดใหญ่พื้นที่ประมาณ 50 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งอาจอยู่ในอาคารหรือพื้นที่เช่าในอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม เป็นต้น
2. มุมกาแฟ (Corner/Kiosk) ร้านกาแฟขนาดกลาง ใช้พื้นที่ประมาณ 6 ตารางเมตรขึ้นไป ลักษณะเป็นมุมกาแฟภายในอาคาร ศูนย์การค้าหรือพลาซ่า มหาวิทยาลัย รวมถึงแหล่งชุมชนต่างๆ ร้านกาแฟประเภทนี้อาจมีการจัดให้มีที่นั่งจำนวนเล็กน้อย
3. รถเข็น (Cart) ร้านกาแฟขนาดเล็ก ใช้พื้นที่ประมาณ 3 ตารางเมตร มักไม่มีที่นั่งในร้าน สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก หาทำเลที่ตั้งได้ง่าย ทำให้เข้าถึงตลาดได้ทุกระดับ

นอกจากนี้เราสามารถแบ่งธุรกิจร้านกาแฟ ออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. คอฟฟี่ช็อป (Coffee shop) ร้านที่มุ่งเน้นขายกาแฟเป็นหลัก อาจจะมีเบเกอรี่เป็นส่วนประกอบด้วยเล็กน้อย มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 49.0 มูลค่าตลาดประมาณ 8,540 ล้านบาท อัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 10.0 เป็นผลจากจำนวนของร้านคอฟฟี่ช็อปที่เพิ่มสูงขึ้น จากการขยายสาขาของผู้นำตลาดและการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ ประกอบกับผู้บริโภคชาวไทยนิยมดื่มกาแฟกันมากขึ้น โดยเฉพาะ ผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง ทั้งนี้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของร้านกาแฟประเภทคอฟฟี่ช็อป คือ คนรุ่นใหม่วัยทำงาน และนักศึกษา

ผู้ประกอบการในธุรกิจร้านกาแฟประเภทคอฟฟี่ช็อป มักดำเนินกิจการในรูปแบบร้านเครือข่าย(Chained coffee shop) ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 75.0 ของมูลค่าตลาดคอฟฟี่ช็อปทั้งหมด หรือมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ คือ “สตาร์บัคส์” ของบริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ จำกัด ซึ่งวางตำแหน่งเป็นกาแฟพรีเมี่ยม เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีรายได้สูง “คาเฟ่อเมซอน” ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือ คนเดินทางหรือนักท่องเที่ยว เนื่องจากตั้งอยู่ในสถานีบริการน้ำมันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ คาเฟ่ อเมซอน กลายเป็นร้านกาแฟที่มีจำนวนสาขามากที่สุด ถึง 920 สาขา ทั้งนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คาเฟ่อเมซอน เริ่มขยายสาขาผ่านช่องทางอื่นที่นอกเหนือจากสถานีบริการน้ำมันด้วย ภายใต้ชื่อ “Amazon’s Embrace” “ทรู คอฟฟี” ของ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จ ากัด (มหาชน) วางตำแหน่งผลิตภัณฑ์เป็นกาแฟพรีเมี่ยม กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ ผู้มีรายได้สูง กลยุทธ์หลักที่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้เลือกใช้ คือ การขยายสาขาไปยัง ศูนย์การค้า มหาวิทยาลัย คอมมูนิตี้มอลล์ตลอดจนแหล่งชุมชนต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าเป้าหมายเข้าถึงสินค้าได้ง่าย ส่งผลให้จำนวนร้านกาแฟในรูปแบบร้านเครือข่ายมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 72.5 ของร้านคอฟฟี่ช็อปทั้งหมด

2. คาเฟ่ (Café) ร้านกาแฟที่ขายอาหารประเภทอื่นควบคู่ไปด้วย ซึ่งมีได้ทั้ง อาหารว่าง (side dish) และอาหารจานหลัก (main dish) กลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือ คนทำงาน นักศึกษา และครอบครัว ผู้นำตลาดคือ “แบล็คแคนยอน” ของ บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด และ “เดอะ คอฟฟี่บีนส์ แอนด์ ทีลีฟ” ของ บริษัท ฟิโก้ คอฟฟี่ จำกัด จากสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันร้านกาแฟประเภทคาเฟ่มีมูลค่าตลาด 8,860 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.0 ของมูลค่าตลาดธุรกิจร้านกาแฟทั้งหมด ลดลงจากเมื่อปี 2552 ที่มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 59.0 ซึ่งได้รับผลกระทบจากการขยายสาขาของร้านกาแฟประเภทคอฟฟี่ช็อปที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย

 

 

 

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527