สวัสดี

อาหารฟังก์ชัน (Functional Food) ในประเทศไทย

แชร์:
Favorite (38)

พฤษภาคม 2563

ในยุคที่ผู้บริโภคชาวไทยให้ความสำคัญกับสุขภาพและคุณภาพชีวิต ผู้คนจึงหันมาออกกำลังกาย เลือกทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และดูแลตัวเองมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมการกิน-ดื่ม ก็เปลี่ยนไปสู่อาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน ทั้งนี้จากรายงานของ บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) เกี่ยวกับสุขภาพและคุณภาพชีวิต (Health and Wellness) ของผู้บริโภคในประเทศไทยล่าสุด พบว่าตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมาคนไทยเลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากกว่าการออกกำลังกาย โดยเป็นการรับประทานเพื่อการป้องกันเป็นหลัก สำหรับอาหารเพื่อสุขภาพที่ผู้บริโภคชาวไทยนิยมรับประทาน ได้แก่ อาหารที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติทั้งหมด มีใยอาหารสูง ไขมันต่ำ โปรตีนสูงหรือมีโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอ ด้วยเหตุผลดังกล่าวส่งผลให้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเหล่านี้มีโอกาสในการเติบโตที่ดี

 “อาหารฟังก์ชัน” (Functional Food) หมายถึง ผลิตภัณฑ์อาหารที่เมี่อบริโภคเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะสามารถทําหน้าที่อื่นๆ ให้กับร่างกายนอกเหนือจากความอิ่มและรสสัมผัส (ความอร่อย) ให้คุณค่าทางอาหารที่จําเป็น เพื่อประโยชน์ทั้งในด้านการปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ปรับปรุงระบบและสภาพการทํางานของร่างกาย ชะลอการเสื่อมโทรมของอวัยวะต่างๆ บําบัดหรือลดอาการของโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย โดยสามารถแบ่งเป็น (1) กลุ่มอาหารที่มีการแต่งเติมสารอาหาร หรือลดสารอาหารที่เป็นประโยชน์น้อย เพื่อให้มีผลต่อการสร้างเสริมสุขภาพ สามารถบริโภคเป็นอาหารประจำวันโดยไม่มีข้อจำกัดเหมือนยา (ไม่อยู่ในรูปแคปซูลหรือผง) เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่เสริมด้วยวิตามินหรือแร่ธาตุต่างๆ ไข่ไก่เสริมโอเมก้า-3 นมผงผสมสารอาหารที่จำเป็นสำหรับทารก รวมถึงอาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพร จำพวกโสม เห็ดต่างๆ งา เป็นต้น (2) กลุ่มอาหารที่แปรรูปจากวัตถุดิบธรรมชาติที่มีคุณสมบัติเฉพาะที่ส่งผลดีต่อร่างกาย เช่น ถั่วเหลือง กระเทียม ชา มะเขือเทศ โยเกิร์ต โดยไม่ได้เพิ่มหรือลดสารอาหารอื่นๆ

ปี 2562 ตลาดอาหารฟังก์ชันในประเทศไทยมีมูลค่า 69,459 ล้านบาท โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ย  ร้อยละ 5.5 ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อคุณภาพชีวิต เลือกรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ขณะเดียวกันภาครัฐมีการรณรงค์ให้คนไทยหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs (Non-Communicable diseases) นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเองก็มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการคุณประโยชน์ที่หลากหลายจากอาหารนั้นๆ โดยประเภทผลิตภัณฑ์ที่มีการขยายตัวสูงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือ ขนมปังเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 12.1 บิสกิตและสแน็กบาร์เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10.7 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคนิยมเลือกรับประทานเป็นอาหารเช้าและอาหารว่าง  

 

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527