สวัสดี

แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกอาหารในซาอุดิอาระเบีย

แชร์:
Favorite (38)

เมษายน 2559

ภาพรวมแนวโน้มธุรกิจค้าปลีกอาหารในตะวันออกกลาง ปริมาณการบริโภคอาหารในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ หรือ GCC คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ในระหว่างปี 2557 ถึง 2562 โดยปริมาณการบริโภคอาหารในภูมิภาคคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 51.9 ล้านเมริกตัน ในปี 2562 ปริมาณการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้นนี้ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยดังนี้

1. การขยายตัวของประชากรกลุ่มประเทศ GCC ที่คาดว่าเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2.4 จาก 50 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 57.6 ล้านคน ในปี 2562  

2. จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3 ในปี 2562

3. รายได้ของประชากรในกลุ่มประเทศ GCC ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่ารายได้ต่อคนต่อหัวจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2.5 ในปี 2562

นอกจากนี้ ระดับรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นยังส่งผลต่อการพฤติกรรมการเลือกสินค้าอาหารของผู้บริโภค โดยพวกเขาจะสนใจซื้ออาหารที่มีราคาสูงเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างสินค้าเช่น สินค้าเกษตรอินทรีย์ เนื้อหมัก นมปรุงแต่ง และอาหารพร้อมปรุง ส่วนธัญพืชเป็นหมวดสินค้าอาหารที่มีการบริโภคมากที่สุดในภูมิภาค โดยคาดว่าในปี 2562 จะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 46.5 ของปริมาณการบริโภคอาหารทั้งหมด

 

ซาอุดิอาระเบียถือเป็นประเทศที่มีการบริโภคอาหารมากที่สุดในกลุ่มประเทศ GCC หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณการบริโภคอาหารทั้งหมด สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของประชากรในประเทศ ส่วนกาตาร์เป็นประเทศที่มีอัตรากการบริโภคอาหารเพิ่มสูงขึ้นที่สุดในกลุ่มประเทศ GCC โดยคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ต่อปีในอีก 4 ปีข้างหน้า ตามมาด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะอยู่ที่ร้อยละ 4.8 นอกจากนี้ กลุ่มประเทศ GCC ยังมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำและพื้นที่เพาะปลูกของประเทศในกลุ่ม GCC โดยอาหารมากกว่าร้อยละ 75 ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ และตลาดอาหารในกลุ่มประเทศ GCC มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

 

ธุรกิจค้าปลีกในกลุ่มประเทศ GCC มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอีก อันเนื่องมาจากจำนวนประชากรในวัยหนุ่มสาวที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของสังคมเมือง ทำให้เกิดความต้องการบริโภคสินค้าปลีกเพิ่มตามไปด้วย นอกจากนี้ ร้านค้าปลีกออนไลน์ก็กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นทั้งในกลุ่มผู้บริโภคและผู้ค้าปลีก  โดยผู้ค้าปลีกมองเห็นว่าเป็นช่องทางที่น่าสนใจที่จะช่วยในการลดค่าใช้จ่าย และช่วยให้พวกเขาสามารถจำหน่ายสินค้าในราคาที่ถูกลงได้ การเจริญเติบโตในตลาดค้าปลีกออนไลน์มาจากการจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในกลุ่มประเทศ GCC  ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แนวโน้มการบริโภคอาหารของชาวซาอุดิอาระเบีย

ซาอุดิอาระเบียเป็นผู้นำเข้าสินค้าอาหารและการเกษตรรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) โดยมีจำนวนประชากรเป็นเกือบ 2 เท่าของสมาชิกที่เหลืออีก 5 ประเทศรวมกัน ซึ่งได้แก่ คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน คาดการณ์ว่าซาอุดิอาระเบียจะมีประชากรประมาณ 40 ล้านคนในปี 2568 ด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 3 ต่อปี จึงเปรียบเสมือนตัวช่วยกระตุ้นความต้องการนำเข้าอาหาร เพราะว่าซาอุดิอาระเบียยังจำเป็นต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศกว่าร้อยละ 80 ของความต้องการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ จากการเติบโตทางเศรษฐกิจช่วยให้รายได้ต่อหัวของคนในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 25,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา รายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้มีผลทำให้คนในประเทศมีการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต และมีความต้องการการบริโภคสินค้าอาหารที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น ในปี 2559 คาดการณ์ว่าการบริโภคอาหารในประเทศจะมีมูลค่าอยู่ที่ 113 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา โดยการบริโภคอาหารกว่าครึ่งจะมาจากร้านอาหาร

 

การเพิ่มขึ้นของประชากรในวัยหนุ่มสาวของสังคมซาอุดิอาระเบียเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มความต้องการบริโภคอาหารสำเร็จรูปที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ประกอบกับสังคมเมืองในซาอุดิอาระเบียที่มีชีวิตรีบเร่ง หรือต้องทำงานจนไม่มีเวลาทำอาหารรับประทานเอง ผู้บริโภคจึงนิยมซื้ออาหารพร้อมรับประทานหรืออาหารที่นำกลับไปรับประทานที่บ้านจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านแทน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานและชาวต่างชาติที่ทำงานในซาอุดิอาระเบีย ถึงแม้ว่าผู้บริโภคต้องการรวดเร็วและความสะดวกสบายในการรับประทานอาหาร ก็ยังมีความต้องการทราบรายละเอียดของสินค้าที่รับประทานอยู่ เช่น มีวิธีการผลิตอย่างไร หรือผู้ผลิตนำวัตถุดิบมาจากไหน

การที่อาหารนำเข้าจากต่างประเทศได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยดังนี้

1. สภาพภูมิประเทศที่ขาดแคลนน้ำ จึงไม่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกจำเป็นต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ

2. คนในวัยหนุ่มสาวที่มีแนวโน้มเลียนแบบพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารแบบชาวตะวันตกเพิ่มมากขึ้น จึงนิยมรับประทานอาหารนำเข้าจากตะวันตก

3. ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในซาอุดิอาระเบียที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงส่งผลต่อความต้องการบริโภคอาหารนำเข้าเพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะพวกเขาต้องการบริโภคอาหารที่นำเข้ามาจากประเทศของตนเอง

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527