สวัสดี

ตลาดช็อกโกแลตในประเทศไทย

แชร์:
Favorite (38)

มีนาคม 2559

ปริมาณการบริโภคช็อกโกแลตในประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.1 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ สาเหตุเป็นเพราะคนไทยนิยมบริโภคช็อกโกแลตเป็นบางครั้งบางคราว หรือบริโภคเฉพาะในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น ปีใหม่ หรือวันวาเลนไทน์ มากกว่าจะบริโภคเป็นประจำทุกวัน

บทนำ  

ปริมาณการบริโภคช็อกโกแลตในประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.1 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ สาเหตุเป็นเพราะคนไทยนิยมบริโภคช็อกโกแลตเป็นบางครั้งบางคราว หรือบริโภคเฉพาะในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น ปีใหม่ หรือวันวาเลนไทน์ มากกว่าจะบริโภคเป็นประจำทุกวัน นอกจากนี้ คนไทยยังนิยมรับประทานขนมทำจากน้ำตาล เบเกอรี่ ลูกอม และขนมขบเคี้ยว มากกว่าช็อกโกแลต เพราะมีราคาไม่แพงและรสชาติถูกปากมากกว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมา ตลาดช็อกโกแลตมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 5,855 ล้านบาท โดยกลุ่มผู้บริโภคจะครอบคลุมตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะกระตุ้นการบริโภคช็อกโกแลตให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ผู้นำตลาดช็อกโกแลตได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับทำกิจกรรมทางการตลาดและการส่งเสริมการขาย 

จากเทรนด์ในเรื่องของสุขภาพ มีผลทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะบริโภคช็อกโกแลตน้อยลง เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ ที่อาจส่งผลให้เกิดโรคภัยต่างๆ ตามมา เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน และ  ฟันผุ ดังนั้นผู้ผลิตจึงได้มีการแก้ไขปัญหาโดยการผลิตสินค้าให้ลดปริมาณและราคาลง หรือลดปริมาณน้ำตาลลงเพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้ยังคงรับประทานช็อกโกแลตอยู่ อย่างไรก็ตาม ช็อกโกแลตดำ (Dark Chocolate) กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น จากการที่ผู้บริโภคทราบถึงประโยชน์ของช็อกโกแลตดำ เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลและนมที่น้อยกว่าช็อกโกแลตแบบปกติ แต่มีปริมาณโกโก้สูงกว่าช็อกโกแลตทั่วไปซึ่งดีต่อหัวใจและช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตที่จะผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้

ผลิตภัณฑ์

ช็อกโกแลตแท่ง ช็อกโกแลตบรรจุห่อ และช็อกโกแลตแท็บเล็ต เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตลาดช็อกโกแลตในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 28 ร้อยละ 28 และร้อยละ 22 ตามลำดับ โดยในกลุ่มช็อกโกแลตแท่ง มีแบรนด์ Kit Kat เป็นผู้นำ ส่วนกลุ่มช็อกโกแลตบรรจุห่อ มีผู้นำคือ แบรนด์ M&M’s Hershey’s Kisses และ Maltesers ส่วน Alfie RitterSport และ Toblerone เป็นผู้นำในกลุ่มช็อกโกแลตแท็บเล็ต นอกจากนี้ ช็อกโกแลตแท่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตมากที่สุดในตลาดช็อกโกแลต เพราะการขับเคลื่อนจากผู้นำตลาดอย่างแบรนด์ Kit Kat ซึ่งเน้นไปที่การออกบูธ การทำแคมเปญส่งเสริมการขาย และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จึงทำให้เป็นที่นิยมในตลาดช็อกโกแลตในประเทศไทย

ผู้นำตลาดช็อกโกแลตในประเทศไทยได้แก่ บริษัท เนสท์เล่ (ประเทศไทย) จำกัด มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 23 โดยมี    แบรนด์ผู้นำ เช่น KitKat Star Smarties Milo Milkybar และ Crunch บริษัท เนสท์เล่ มีชื่อเสียงในกลุ่มของช็อกโกแลตแท่งและช็อกโกแลตแท็บเล็ต โดยมี Kit Kat เป็นผู้นำตลาดซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 50 ในกลุ่มช็อกโกแลตแท่ง ในขณะที่ Milo ครองตลาดในกลุ่มช็อกโกแลตแท็บเล็ตด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 27 จุดแข็งของบริษัทอยู่ที่การมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกหลากหลายและการกระจายสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถครอบคลุมช่องทางการค้าทั้งแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ อีกทั้งยังมีการทำแคมเปญส่งเสริมการขายให้กับแบรนด์ต่างๆ ของบริษัทอย่างต่อเนื่อง 

บริษัท มาร์ส (ประเทศไทย) อิงค์ จำกัด ครองตำแหน่งอันดับที่ 2 โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 16 ภายใต้    แบรนด์ที่มีชื่อเสียง เช่น M&M’s Maltesers Mars Snicker และ Twix บริษัทเป็นผู้นำในกลุ่มช็อกโกแลตบรรจุห่อ โดยครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 35 จากแบรนด์ M&M’s และ Maltesers นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้นำในกลุ่มช็อกโกแลตตามฤดูกาล โดยครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 23 ภายใต้แบรนด์ M&M’s ส่วนในกลุ่มช็อกโกแลตแท่ง บริษัทครองอันดับที่ 2 โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 21 ภายใต้แบรนด์ Mars Stickers และ Twix 

อันดับที่ 3 ได้แก่ บริษัท เฮอร์ชี่ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 13 ภายใต้แบรนด์  Hershey’s Nuggets Hershey’s class Bar และ Hershey’s Kisses และอันดับที่ 4 ได้แก่ บริษัท เฟอร์เรโร เอส.พี.เอ ประเทศอิตาลี่ ที่นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท ซีโน-แปซิฟิค เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12 ภายใต้แบรนด์ Ferrero Rocher

จากกราฟแสดงส่วนแบ่งตลาดช็อกโกแลตในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าแบรนด์ 10 อันดับแรกของตลาดช็อกโกแลตในประเทศไทยเป็นแบรนด์จากต่างประเทศ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันมีมูลค่ามากกว่าครึ่งของมูลค่าตลาดทั้งหมดในปี 2558 โดยแบรนด์เหล่านี้จะทำตลาดในพื้นที่ในเมือง เช่น กรุงเทพหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญต่างๆ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าในเมืองที่มีกำลังซื้อและลูกค้าต่างชาติที่มีความคุ้นเคยกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศของพวกเขา ในทางกลับกัน แบรนด์จากประเทศไทยซึ่งโดยรวมแล้วยังไม่เป็นที่นิยมมากนักในตลาด จะเน้นไปที่การผลิตสินค้าที่มีราคาไม่แพงและจัดจำหน่ายไปยังต่างจังหวัดมากกว่าจะเน้นไปที่ตลาดในเมือง เมื่อมองภาพรวมจากกราฟแล้วจะเห็นว่าตลาดช็อกโกแลตในประเทศไทยมีแบรนด์สินค้าและผู้ผลิตอยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ตลาดช็อกโกแลตเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง ดังนั้นผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่ง

 

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527