สวัสดี

Hot issue

ผลกระทบ Brexit ต่ออุตสาหกรรมอาหารไทย (ตอนที่ 2)

มิถุนายน 2559

รายละเอียด :

หลังการลงประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน เสร็จสิ้นลง ปรากฎว่าฝ่ายที่เห็นชอบให้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) เป็นฝ่ายชนะการลงประชามติในสัดส่วนร้อยละ 52 มากกว่าฝ่ายสนับสนุนให้เป็นสมาชิกอยู่ต่อไป (Remain) ที่ได้รับเสียงสนับสนุนร้อยละ 48 ผลกระทบระยะสั้นเป็นไปที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ตลาดการเงินโลกผันผวนอย่างหนัก เงินปอนด์อ่อนค่าลงอย่างรุนแรง และเริ่มมีความวิตกกังวลไปถึงภาวะเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป ตลอดจนเศรษฐกิจโลกนับต่อจากนี้ไป แผนงานต่อจากนี้ไป จะเข้าสู่กระบวนการถอนตัวซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 2 ปี ซึ่งความวิตกกังวลในระยะสั้นอาจคลายตัวลง แต่ในระยะยาวหลังจากการถอนตัวแล้วเสร็จ เป็นประเด็นที่น่าติดตาม

          ในตอนที่แล้วได้นำเสนอภาพรวมความสัมพันธ์ทางการค้าอาหารระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร รวมถึงผลกระทบ Brexit ต่ออุตสาหกรรมอาหารในระยะสั้นไปแล้ว สำหรับในตอนที่ 2 นี้ จะนำเสนอบทวิเคราะห์ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารในระยะยาวที่จะเกิดขึ้นภายหลังกระบวนการในการถอนตัวออกจากอียูแล้วเสร็จ

ผลกระทบระยะยาวหลังแยกตัวออกจากอียู

          ผลกระทบ Brexit ต่ออุตสาหกรรมอาหารไทยในระยะยาวนั้น แม้ไม่อาจประเมินได้ในขณะนี้ แต่สามารถพิจารณาผลกระทบจากการประเมินแนวโน้มปัจจัยใน 2 ประเด็นหลักที่จะเกิดขึ้นหลังสหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากอียู คือ

1) ประเด็นเรื่องกฎระเบียบ (Food Law & Regulation) มาตรฐานสินค้าและความปลอดภัยอาหาร (Food safety) และมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่และมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงก็จะส่งผลกระทบทำให้ผู้ส่งออกของไทยต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบหรือมาตรฐานดังกล่าว แต่ผลกระทบอาจเป็นช่วงแรกๆ ของการออกกฎหมายเท่านั้น และเมื่อปรับตัวได้แล้วต้นทุนส่วนนี้ก็จะค่อยๆ คลายตัวลง
ซึ่งประเด็นต่างๆ ในข้อ (1) ส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงกับประเด็นที่ (2) กล่าวคือ

2) ประเด็นที่สหราชอาณาจักรจะทำความตกลงทางการค้ากับต่างประเทศในรูปแบบไหน และจะเอื้อกับไทยมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะความตกลงการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียูที่เป็นประเด็นเร่งด่วน (First priority) ที่คาดว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องหาทางออกว่าจะมีความสัมพันธ์ทางการค้าในรูปแบบใดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อทั้งสองฝ่าย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง ซึ่งรูปแบบความตกลงทางการค้าที่จะเกิดขึ้นเป็นประเด็นที่น่าจับตามองอย่างมาก เพราะจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทยด้วย เนื่องจากสหราชอาณาจักรและอียูต่างเป็นห่วงโซ่การผลิตและเครือข่ายการค้าการลงทุนที่สำคัญของไทย

สำหรับการเจรจาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียูนั้น อาจมีข้อสรุปที่สามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ได้แก่

  1. European Economic Area (EEA) หรือ Norway Model
  2. European Free Trade Association (EFTA) หรือ Swiss Model
  3. Customs union หรือ Turkey Model
  4. โมเดลกรอบการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA)
  5. ความสัมพันธ์แบบ World Trade Organization (WTO) Most-Favoured Nation (MFN)

          ในเบื้องต้นทางฝั่งสหราชอาณาจักรประสงค์จะมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับอียูในลักษณะที่เป็นตลาดเดียว (Single market) แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะฝ่ายคู่เจรจาดูจะมีอำนาจเหนือกว่า สหราชอาณาจักรจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะสามารถเลือกเจรจาเงื่อนไขต่างๆ ของการถอนตัวออกจากอียูได้ตามใจชอบ การที่สหราชอาณาจักรจะเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ที่มีขนาดประชากรกว่า 500 ล้านคน โดยไม่ยอมรับความเสี่ยงอะไรเลยจึงเป็นเรื่องที่อียูยอมรับไม่ได้ นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ทางการค้าในรูปแบบที่ (1), (2) และ (3) ก็ยังมีจุดอ่อนที่สหราชอาณาจักรไม่พึงประสงค์ ได้แก่การจ่ายเงินสนับสนุนงบประมาณให้กลุ่มยุโรป การไม่มีอิสระในการกำหนดกฎระเบียบเองได้ และเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายคน

          จากภาวการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับ
อียูในรูปแบบที่ (1), (2) และ (3) อาจเป็นไปได้ยาก ดังนั้น ความสัมพันธ์ทางการค้าในลักษณะที่ผสมผสานกันระหว่างรูปแบบที่ (4) และ (5) ดูจะเป็นทางออกของสหราชอาณาจักร ซึ่งรูปแบบนี้ก็มีจุดแข็งที่สามารถขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งด้านภาษีและมิใช่ภาษีให้หมดไปได้ และยังสามารถเจรจาการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ ได้ด้วย นั่นหมายความว่า หากประเทศไทยจะมีการเจรจาทำ FTA กับสหราชอาณาจักรก็มีโอกาสที่จะทำได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของการทำ FTA คือ การเจรจาอาจใช้เวลานานหลายปี

นอกจากการค้าระหว่างประเทศแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา มีนักธุรกิจไทยไปลงทุนในสหราชอาณาจักรในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารจำนวนมากพอสมควร ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม ร้านอาหารไทย ธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าอาหารไทย รวมทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต

ทั้งนี้ ผลกระทบสำหรับผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนในสหราชอาณาจักรหรือสหภาพยุโรป ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกันในกรณีที่มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศรวมทั้งไทยเพื่อไปเป็นวัตถุดิบหรือเพื่อจำหน่าย เนื่องจากธุรกิจมีรายได้เป็นเงินปอนด์แต่มีภาระค่าใช้จ่ายในรูปเงินตราต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และยังมีผลกระทบทำให้ยอดขายชะลอตัวจากแนวโน้มการอ่อนตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาวการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ อาจส่งผลต่อกลยุทธ์การลงทุนของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการให้สหราชอาณาจักรเป็นฐานการกระจายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศในยุโรปมีอันต้องสะดุดลงไปชั่วคราวจนกว่าจะแน่ชัดเรื่องความตกลงทางการค้าที่จะเกิดขึ้นระหว่างทั้งสองฝ่าย

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527