สวัสดี

Hot issue

ส่องโอกาส..เปิดตลาดรัสเซีย

กุมภาพันธ์ 2559

รายละเอียด :

รัสเซีย ตลาดที่ผู้ส่งออกไทยไม่ควรมองข้าม

จากการที่ภาคการส่งออกของไทยมีสัดส่วนราวร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) จึงถือเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่การที่มูลค่าส่งออกหดตัวนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาตามภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าเกษตรที่ตกต่ำลงนั้น ส่งผลให้ภาครัฐคิดหา  ทางออกโดยการพยายามเจรจาหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกและช่วยกระจายความเสี่ยงให้แก่ผู้ประกอบการ ตลาดรัสเซียเป็นหนึ่งในตลาดใหม่ที่ภาครัฐให้การส่งเสริมโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการอาหาร เนื่องจากรัสเซียเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงจากจำนวนประชากรที่มากถึง 145 ล้านคน อีกทั้งยังเป็นประตูสู่ประเทศอดีตสหภาพโซเวียต (Commonwealth of Independence State: CIS) ซึ่งยังมีระบบโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงกับรัสเซียอย่างใกล้ชิดอยู่ จึงส่งผลให้กำลังซื้อไม่ได้จำกัดเฉพาะตลาดรัสเซียเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประชากรอีกกว่า 100 ล้านคนในกลุ่มประเทศ CIS นี้อีกด้วย

นับตั้งแต่รัสเซียออกมาตรการตอบโต้การคว่ำบาตรจากกรณีข้อพิพาทยูเครน ด้วยการห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร 12 กลุ่ม อาทิ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม ผักผลไม้และถั่ว จากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ รัสเซียก็หันมาให้ความสำคัญกับการนำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียนรวมถึงประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นศักยภาพเสมือนหนึ่งเป็นคลังอาหารสำรองให้กับรัสเซียได้ และโอกาสในการพัฒนายกระดับการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับรัสเซียก็มีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อนายกรัฐมนตรีรัสเซีย เดินทางมาเยือนประเทศไทยครั้งแรกในรอบ 25 ปีเมื่อกลางปีที่แล้ว ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจของไทยพร้อมคณะผู้ประกอบการก็ได้รวมกลุ่มเดินทางไปเยือนรัสเซียเมื่อวันที่ 23-27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รวมถึงนายกรัฐมนตรีของไทยที่มีกำหนดการเข้าร่วมประชุมรัสเซีย-อาเซียนซัมมิท ช่วงวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2559 อีกด้วย

อาหารไทยส่งออกไปรัสเซียเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.7 ต่อปี

หากพิจารณาศักยภาพของตลาดรัสเซีย พบว่า มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของโลก รายได้หลักของประเทศกว่าร้อยละ 60 มาจากภาคพลังงาน โดยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก แต่ภาคอุตสาหกรรมยังขาดความหลากหลายโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ผ่านมารัสเซียนำเข้าอาหารและเครื่องดื่มราว 23.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เฉลี่ยราวร้อยละ 13.0 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด และมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.1 ต่อปี และแม้ว่าปัจจุบันไทยจะไม่ใช่คู่ค้ารายใหญ่ของรัสเซียโดยมีส่วนแบ่งตลาดไม่ถึงร้อยละ 1.0 แต่แนวโน้มการนำเข้าอาหารจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 4.7 ต่อปี แสดงให้เห็นถึงโอกาสการขยายตลาดอาหารไปยังรัสเซีย    

ด้านภาพรวมการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มของรัสเซีย ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อสัตว์ พืชผักและผลไม้ นมและผลิตภัณฑ์ และเครื่องดื่ม ส่วนใหญ่มาจากประเทศในยุโรป บราซิล จีน ตุรกี เอกวาดอร์ ปารากวัย เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านระยะทางการขนส่ง

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527