งานวิจัยประเมินความเสี่ยง : กลุ่มธัญพืช ถั่วเมล็ดและผลิตภัณฑ์
  • สภาพความเสี่ยงในอาหารกลุ่มธัญพืช ถั่วเมล็ดและผลิตภัณฑ์

    การผลิตอาหารในกลุ่มธัญพืช ถั่วเมล็ดและผลิตภัณฑ์ซึ่ง ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วลิสง ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ของไทยนั้น จากการวิจัยพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายทางด้านเคมีมากที่สุด ซึ่งชนิดอันตรายที่มีความเสี่ยง 3 ลำดับแรกได้แก่

    1. อันตรายจากสารพิษจากเชื้อรา

    ได้แก่ อะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) พบในถั่วลิสงและผลิตภัณฑ์ ข้าวกล้อง นอกจากนั้นยังพบโอกาสเสี่ยงจากสารพิษฟูโมนิซิน (Fumonisins) ในขนมขบเคี้ยวจากแป้ง
    ข้าวโพด สารโอคราท็อกซิน (Ochratoxin) ในผลิตภัณฑ์ถั่วลิสงและผลิตภัณฑ์ข้าวกล้อง ข้าวมันปู ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เล่ย์ ลูกเดือย และเม็ดบัว และสารซีราลีโนน (Zearalenone) ในข้าวโพดและผลิตภัณฑ์ โดยสารพิษทั้งสามชนิดนี้ แม้มิได้มีการตรวจวิเคราะห์ในประเทศไทยอย่างจริงจัง เนื่องจากขาดความชำนาญและเครื่องมือในการวิเคราะห์ แต่มีแนวโน้มที่ควรตรวจติดตามสารพิษเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสารพิษเหล่านี้อาจเป็นปัญหาเงื่อนไขความปลอดภัยในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อาหารได้ในอนาคต
     
    2. อันตรายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
    ได้แก่ Aldrin, Dieldrin, Endrin, DDT, Alpha-BHC, Heptachlor & heptachlorepoxide และ Lindance อาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่เสี่ยง ได้แก่ ข้าวสาร ข้าวนึ่ง แป้งข้าวเจ้า ขนมจีน เต้าหู้แข็ง ฟองเต้าหู้ ซีอิ้ว เต้าเจี้ยว ถั่วเมล็ดแห้งและนมถั่วเหลือง
     
    3. อันตรายทางกายภาพ
    เป็นอันตรายจากสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ เช่น แมลงและชิ้นส่วนขนหรือเส้นผม มูลสัตว์ เศษสิ่งปนเปื้อนที่ติดมากับวัตถุดิบ เช่น แป้งข้าวเจ้า เส้นหมี่ ขนมอบกรอบ ก๋วยเตี๋ยว ข้าวโพด ข้าวสาลี บะหมี่ สำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์จากข้าวอื่น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหากักกันสินค้า เนื่องจากบ่งบอกว่าผลิตหรือแปรรูปอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ นอกจากนั้น อาหารกลุ่มธัญพืช ถั่วเมล็ดและผลิตภัณฑ์ ยังพบอันตรายทางเคมีที่เกิดขึ้น โดยไม่ได้ตั้งใจระหว่างกระบวนการผลิตหรือแปรรูป ได้แก่ สาร 3-monochloropropane-1,2 diol (3-MPCD) ในผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสจากถั่วเหลือง และมีอันตรายทางเคมีทีเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตหรือแปรรูปที่มีสาเหตุของการปนเปื้อนมาจากการขาดความรู้ ความเข้าใจ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือแม้กระทั่งการกระทำลงไปโดยตั้งใจ ได้แก่ การตกค้างของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในผลิตภัณฑ์เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ วุ้นเส้น
     
    ภาพประกอบ : อินเตอร์เนต
จำนวนครั้งที่อ่าน 6704 กลับสู่หน้าหลัก